พระบูชา5นิ้ว หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน (วัดอัมพวัน)
ท่านเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อเนียม วัดน้อย เป็นพระสหธรรมมิกของหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค และเป็นหนึ่งในพระอาจารย์ของหลวงพ่อ
****************************************************
หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน (วัดอัมพวัน) อดีตพระเกจิดังแห่งเมืองสุพรรณบุรี
หลวงพ่อโหน่ง อินทฺสุวณฺโณ เป็นชาวสุพรรณบุรีโดยกำเนิด เกิดที่บ้านสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง เมื่อปีพ.ศ.2408 ในตระกูลโตงาม ศึกษาร่ำเรียนที่วัดสองพี่น้อง จนอ่านออกเขียนได้ทั้งอักขระไทยและขอม จากนั้นช่วยบิดามารดาประกอบสัมมาอาชีพอย่างขยัน ขันแข็ง ประพฤติดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มักน้อย และรักสันโดษ จนอายุได้ 24 ปี ในปีพ.ศ.2433 ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง มีพระอธิการจันทร์ เจ้าอาวาสวัดทุ่งคอก เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ดิษฐ์ เป็นพระกรรม วาจาจารย์ และพระอธิการสุต เป็นพระ อนุสาวนาจารย์ โดยตั้งใจจะบวช 1พรรษา
ในสมณเพศ มีความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ ใฝ่ใจศึกษาพระธรรมวินัย คันถธุระ และวิปัสสนาธุระจนรู้ซึ้ง เมื่อครบกำหนดตัดสินใจไม่ลาสิกขา จากนั้นออกเดินทางไปยังวัดทุ่งคอก เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ พระอธิการจันทร์ พระอุปัชฌาย์ ผู้มีชื่อเสียงและกิตติศัพท์ด้านวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาอาคมแขนงต่างๆ
ศึกษาอยู่ 2 พรรษา จึงลาเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า อีก 2 พรรษา แล้วจึงกลับมาจำพรรษาที่วัดสองพี่น้องตามเดิม
ในช่วงศึกษาที่วัดน้อยนั้น ท่านได้รู้จักกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรี อยุธยา ซึ่งได้เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเนียมเช่นกัน โดยท่านนับเป็นศิษย์รุ่นพี่ หลวงพ่อเนียมยังได้เคยปรารภกับหลวงพ่อปานว่า “ถ้าข้าตายแล้ว สงสัยธรรมข้อใดให้ไปถามท่านโหน่งเขานะ เขาพอแทนข้าได้”
เมื่อกลับมาจำพรรษาที่วัดสองพี่น้อง หลวงพ่อโหน่งยังมีความเกี่ยวพันกับพระเกจิชั้นผู้ใหญ่ 2 รูป ซึ่งเป็นคนบ้านสองพี่น้องเช่นเดียวกัน เมื่อครั้งอุปสมบทที่วัดสองพี่น้อง คือ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ของ สมเด็จป๋า (ปุ่น ปุณณสิริ) วัดโพธิ์ สมเด็จพระสังฆราชองค์ ที่ 17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นพระอนุสาวนาจารย์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ (สด จันทสโร) แห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญ
หลวงพ่อโหน่งเป็นพระผู้มีปฏิปทาและจริยวัตรงดงาม เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านเริ่มขจรขยายไกล ทั้งด้านวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาอาคมต่างๆ หลวงพ่อแสง เจ้าอาวาสวัดคลองมะดัน หรือ วัดอัมพวัน อ.สองพี่น้อง ผู้เก่งกล้าในวิทยาอาคม ได้ทราบถึงกิตติศัพท์จึงเดินทางมาพบและสนทนาธรรมอยู่เป็นเนืองนิจ จนมีความสนิทสนมกันมากและได้ชักชวนหลวงพ่อโหน่งให้มาอยู่ด้วยกันที่วัดคลองมะดัน ซึ่งหลวงพ่อโหน่งก็ตอบตกลงด้วยความเต็มใจ เนื่องจากต้องการศึกษาความรู้เพิ่มเติมจากหลวงพ่อแสงเช่นกัน
หลวงพ่อโหน่งมรณภาพในปีพ.ศ.2477 สิริอายุ 69 ปี พรรษา 46 นับเป็นการสูญเสียพระเกจิผู้เปี่ยมด้วย ศีลจารวัตรและเมตตาบารมีธรรม พระอริยสงฆ์ผู้เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนโดยถ้วนทั่ว