ประวัติ

  • ๗. ศึกษา - แบ่งปัน ประวัติ ประวัติ-โชว์

    ประวัติพระเดชพระคุณพระราชพรหมยาน หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง

    พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2459 ตรงกับวันขึ้น9ค่ำ เดือน8 ปีมะโรง ที่ ต.สาลี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ในครอบครัวของชาวนาซึ่งมีฐานะค่อนข้างดี บิดาชื่อนายควง สังข์สุวรรณ มารดาชื่อนางสมบุญ สังข์สุวรรณ ท่านเป็นบุตรคนที่3 จากพี่น้องร่วมบิดามารดาจำนวน5คน

    ก่อนที่หลวงพ่อฤาษีลิงดำจะเกิดนั้น มารดาของท่านฝันว่า เห็นพรหมมีสีเหลืองเป็นทองคำเหมือนพระพุทธรูป นอนลอยไปในอากาศ มีเพชรประดับแพรวพราวทั้งตัว เข้าทางหัวจั่วด้านทิศเหนือ เข้ามานั่งที่ตักท่าน มารดาก็กอดไว้ แล้วก็หายเข้าไปในกาย เมื่อเกิดมาใหม่ๆ หลวงพ่อเล็ก เกสโร ซึ่งมีฐานะเป็นลุง ได้กล่าวว่า เจ้าเด็กคนนี้มาจากพรหม ดังนั้นจึงให้ชื่อว่า “พรหม” และต่อมาภายหลัง คนที่จดสำมะโนครัวเขามาเปลี่ยนชื่อให้เป็น “สังเวียน” ท่านยายกับชาวบ้านเรียกว่า “เล็ก” ส่วนท่านมารดาและพี่ๆน้องๆ เรียกว่า “พ่อกลาง”

    -พ.ศ.2466 อายุ7ขวบ เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลวัดบางนมโค จ.อยุธยา จนจบชั้นประถมปีที่3

    -พ.ศ.2474 อายุ15ปี อาศัยกับท่านยายที่บ้านหน้าวัดเรไร อ.ตลิ่งชัน จ.ธนบุรี ได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ พ.ศ.2478 อายุ19ปี เข้าทำงานเป็นเภสัชกรทหาร สังกัดกรมการแพทย์ทหารเรือ (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า)

    -พ.ศ.2479 อายุ20ปี อุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2479 เวลา13.00นาฬิกา ที่วัดบางนมโค จ.อยุธยา โดยมีพระครูรัตนาภิรมย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนันโท) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เล็ก เกสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

    คำสั่งพระอุปัชฌาย์ ขณะเข้าบวช หลวงพ่อปาน ท่านบอกท่านอุปัชฌาย์ว่า เจ้านี่หัวแข็งมาก ต้องเสกด้วยตะพดหนักหน่อย ท่านอุปัชฌาย์ท่านเป็นพระทรงธรรมเหมือนหลวงพ่อ (ปาน) หลวงพ่อเล็กก็เหมือนกัน ท่านอุปัชฌาย์ท่านยิ้มแล้วท่านพูดว่า “3 องค์นี้ไม่สึก อีกองค์ต้องสึกเพราะมีลูก เมื่อจะสึกไม่ต้องเสียดายนะลูก เกษียณแล้วบวชใหม่มีผลสมบูรณ์เหมือนกัน 2องค์นี้พอครบ 10พรรษาต้องเข้าป่า เมื่อเข้าป่าแล้วห้ามออกมายุ่งกับชาวบ้านจนกว่าจะตาย จะพาพระและชาวบ้านที่อวดรู้ตกนรก จงไปตามทางของเธอ ท่านปานช่วยสอนวิชาเข้าป่าให้หนักหน่อย ท่านองค์นี้ (หมายถึงฉัน) จงเข้าป่าไปกับเขา แต่ห้ามอยู่ในป่าเป็นวัตร เพราะเธอมีบริวารมาก ต้องอยู่สอนบริวารจนตาย พอครบ20พรรษาจงออกจากสำนักเดิม เธอจะได้ดี จงไปตามทางของเธอ ฉันบวชพระมามากแล้วไม่อิ่มใจเท่าบวชพวกเธอ”

    พ.ศ.2480 อายุ21ปี สอบได้นักธรรมตรี
    พ.ศ.2481 อายุ22ปี สอบได้นักธรรมโท
    พ.ศ.2482 อายุ23ปี สอบได้ นักธรรมเอก

    ระหว่างปี พ.ศ.2480-2483 ได้ศึกษาพระกรรมฐาน จากครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิเช่นหลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค, หลวงพ่อจง พุทธสโร วัดหน้าต่างนอก, พระอาจารย์เล็ก เกสโร วัดบางนมโค, พระครูรัตนาภิรมย์ วัดบ้านแพน, พระครูอุดมสมาจารย์ วัดน้ำเต้า, หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ, หลวงพ่อเนียม วัดน้อย, หลวงพ่อโหน่ง วัดอัมพวัน (วัดคลองมะดัน) และหลวงพ่อเรื่อง วัดใหม่พิณสุวรรณ

    -พ.ศ.2483 อายุ24ปี เข้ามาจำพรรษาที่วัดช่างเหล็ก อ.ตลิ่งชัน ธนบุรี เพื่อเรียนบาลี จากนั้นย้ายมาอยู่ที่วัดอนงคารามในช่วงออกพรรษาในสมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) อยู่วัดช่างเหล็กในช่วงเข้าพรรษา ระหว่างนี้ได้ศึกษาเพิ่มเติมกรรมฐานกับหลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ และพบพระสุปฏิปันโนอีกมาก เช่น สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทัย)

    -พ.ศ.2486 อายุ27ปี สอบได้เปรียญธรรม 3ประโยค เปลี่ยนชื่อเป็น “พระมหาวีระ” เพื่อไม่ให้คล้ายกับ พระมหาสำเนียง ที่อยู่วัดช่างเหล็ก ที่เดียวกัน

    -พ.ศ.2488 อายุ29ปี สอบได้เปรียญธรรม 4ประโยค ย้ายมาอยู่วัดประยูรวงศาวาส ได้เป็นรองเจ้าคณะ4 วัดประยูรวงศาวาส และฝึกหัดการเป็นนักเทศน์

    -พ.ศ.2492 อายุ33ปี จำพรรษาที่วัดลาวทอง จ.สุพรรณบุรี

    -พ.ศ.2494 อายุ35ปี จึงกลับไปอยู่วัดบางนมโคและได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางนมโค

    -พ.ศ.2500 อายุ41ปี อาพาธหนักเข้าโรงพยาบาลกรมแพทย์ทหารเรือ

    -พ.ศ.2502 อายุ43ปี พักฟื้นที่วัดชิโนรสาราม กรุงเทพฯ จากนั้นจึงได้ย้ายไปอยู่วัดโพธิ์ภาวนาราม จ.ชัยนาท ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสำนักสงฆ์ ได้ลูกศิษย์รุ่นแรก 6คน

    -พ.ศ.2505 อายุ46ปี ไปจำพรรษาที่วัดพรวน จ.ชัยนาทเป็นเวลา 1พรรษา

    -พ.ศ.2506 อายุ47ปี กลับมาจำพรรษาที่วัดโพธิ์ภาวนาราม พอกลางเดือนมิถุนายน ก็ได้ลาพุทธภูมิ

    -พ.ศ.2508 อายุ49ปี จำพรรษาที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท แล้วเริ่มไป – กลับวัดสะพาน จ.ชัยนาท เพื่อสอนพระกรรมฐาน

    -พ.ศ.2510 อายุ51ปี ได้สอนวิชามโนมยิทธิ แล้วจึงจำพรรษาที่วัดสะพาน จ.ชัยนาท

    -พ.ศ.2511 อายุ52ปี ในวันที่ 11 มีนาคม จึงมาอยู่วัดจันทาราม (ท่าซุง) ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี ได้ทำบูรณะ สร้างและขยายวัด จากเดิมมีพื้นที่ 6ไร่ 2งาน 07 2/10ตารางวา จนกระทั่งเป็นวัดที่มีบริเวณพื้นที่ประมาณ 289ไร่ 1งาน 40ตารางวา มีอาคารและถาวรวัตถุต่าง ๆ จำนวน 144รายการในวัด สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 611,949,193บาท สิ่งก่อสร้างทั้งในวัดและนอกวัด อาทิเช่น หอสวดมนต์, พระพุทธรูป, อาคารปฏิบัติกรรมฐาน, ศาลาการเปรียญ, วิหาร 100เมตร, โบสถ์ใหม่, บูรณะโบสถ์เก่า, ศาลา 2 ไร่, 3 ไร่, 4 ไร่ และ 12 ไร่, หอไตร, โรงพยาบาลศูนย์แม่และเด็ก ชนบทที่ 61, พระจุฬามณี, มณฑปท้าวมหาราชทั้ง 4, พระบรมราชานุสาวรีย์ 6พระองค์, พระชำระหนี้สงฆ์, โรงไฟฟ้า, โรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา, ศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในแดนทุรกันดารตามพระราชประสงค์ เป็นต้น ทั้งยังได้ช่วยการก่อสร้างที่วัดอื่นๆ ในประเทศไทยอีกมากมาย

    -พ.ศ.2520 อายุ61ปี ตั้งศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในแดนทุรกันดารตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม

    -พ.ศ.2526 อายุ67ปี สร้างโรงพยาบาลแม่และเด็กชนบทที่61 และมอบให้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

    -พ.ศ.2527 อายุ68ปี ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญวิ. (ป.ธ.4 น.ธ.เอก) ที่ “พระสุธรรมยานเถร”

    -พ.ศ.2528 อายุ69ปี สร้างโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา

    -พ.ศ.2532 อายุ73ปี ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ “พระราชพรหมยาน ไพศาลภาวนานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”

    -พ.ศ. 2535 อายุ76ปี ได้อาพาธด้วยโรคปอดบวมอย่างแรง และติดเชื้อในกระแสโลหิต เข้ารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และมรณภาพที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2535 เวลา 16.10 น. ปัจจุบันศพของหลวงพ่อได้บรรจุไว้ในโลงแก้วบนบุษบกทองคำที่ประดับด้วยอัญมณีอันวิจิตรงดงาม ณ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี

    ตลอดระยะเวลาที่อุปสมบทอยู่ หลวงพ่อฤาษีลิงดำได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ ในพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ

    -ทางด้านชาติ ได้สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน จัดตั้งธนาคารข้าว ออกเยี่ยมเยียน ทหารหาญของชาติและตำรวจตระเวณชายแดนตามหน่วยต่างๆ เพื่อ ปลุกปลอบขวัญและกำลังใจ และ แจกอาหาร ยา อุปกรณ์อำนวยความสะดวก และวัตถุมงคลทั่วประเทศ

    -ทางด้านพระศาสนา ได้สั่งสอนพุทธบริษัทศิษยานุศิษย์ให้มุ่งพระนิพพานเป็นหลัก โดยให้ประพฤติปฏิบัติสำรวมกาย วาจา ใจ มุ่งในทาน ศีล สมาธิ และปัญญา ทั้งในทางกรรมฐาน40 และมหาสติปัฏฐานสูตร ได้พิมพ์หนังสือคำสอนจำนวนมากและบันทึกเทปคำสอนกว่า 1,000 ม้วน นอกจากนี้ยังได้แสดงธรรมเทศนาทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นครั้งคราว นอกจากนี้ ยังเดินทางไปสงเคราะห์คณะศิษย์ในต่างจังหวัดและต่างประเทศทุกๆปี

    -ทางด้านวัตถุ ท่านได้ช่วยสร้างพระพุทธรูปและถาวรวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนามากกว่า 30วัด รวมทั้งการบูรณะฟื้นฟูวัดท่าซุงด้วยเงินกว่า 600ล้านบาท ได้สร้างพระไตรปิฎก และถวายผ้าไตรแก่วัดต่างๆ

    -ทางด้านพระมหากษัตริย์ท่านได้สนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการจัดตั้งศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งศูนย์ฯ นี้ได้ดำเนินการสงเคราะห์ราษฎรในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 ทั้งการแจกเสื้อผ้า อาหาร และยารักษาโรคแก่ราษฎรผู้ยากจน, การช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ, การจัดแพทย์เคลื่อนที่ออกรักษาพยาบาลราษฎรผู้เจ็บป่วย, การให้ทุนนักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจน, การบริจาคทุนทรัพย์ให้แก่มูลนิธิและโรงพยาบาลต่างๆ ฯลฯ

    นับได้ว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยานเป็นปูชนียบุคคลผู้อยู่ด้วยความกรุณา เป็นปกติ พร่ำสอนธรรมะและสิ่งทีเป็นประโยชน์และสงเคราะห์เกื้อกูลมหาชนด้วยเมตตามหาศาลสมกับเป็น ศากยบุตรพุทธชิโนรสแท้องค์หนึ่ง

    คุณวิเศษส่วนองค์และต่อส่วนรวม
    1. เป็นผู้ได้บำเพ็ญบารมีมามาก
    2. ทรงอภิญญาสมาบัติและปฏิสัมภิทาญาณ
    3. ทรงเถรธรรม ประกอบด้วย รัตตัญญู (รู้ราตรีนาน), สีลวา (มีศีล), พหุสสุตะ (ทรงความรู้ได้ฟังมาก), สวาคตะปาฏิโมกขะ (วินิจฉัยพระวินัยได้ดี), อธิกรณสมุปปาทวูปสมกุสละ (ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น), ธัมมกามะ (ใคร่ในธรรม), สันตุฏฐะ (สันโดษ), ปาสาทิกะ (น่าเลื่อมใส), ฌานลาภี (คล่องในฌาน) และ อนาสวเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ (บรรลุเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ สิ้นอาสวกิเลส
    4. รู้แจ้งในไตรภูมิ
    5. เป็นที่รักของพระ พรหม เทพยดาและมนุษย์ทั้งปวง
    6. สอนคนให้เข้าใจถึงพระนิพพานได้จริง ตามมาตรฐานการปฏิบัติธรรมแห่งพระพุทธศาสนาครบถ้วนทั้ง 4 หมวด อันได้แก่
    6.1) สุกขวิปัสสโก ปฏิบัติธรรมแบบเรียบ ๆ มีมรรคมีผล แต่ไม่มีความรู้พิเศษ
    6.2) เตวิชโช หรือเรียกว่า วิชชา 3 มีมรรคมีผล และมีความรู้พิเศษคือ ทิพจักขุญาณ รู้ว่าคนเกิดมาจากไหน ตายไปไหน เป็นต้น มีญาณ 8 ประการ
    6.3) ฉฬภิญโญ หรือเรียกว่า อภิญญา6 มีมรรคมีผล และมีความรู้พิเศษคือแสดงฤทธิ์ได้ 5 อย่าง หากหมดกิเลสด้วยจะเรียกว่าได้อภิญญา6
    6.4) ปฏิสัมภิทัปปัตโต หรือเรียกว่า ปฏิสัมภิทาญาณ มีมรรคมีผล และมีความรู้พิเศษครอบคลุมทั้ง 3 หมวดแรก ปฏิสัมภิทาญาณนั้นคือ ทรงพระไตรปิฎก (แตกฉานในเหตุและผล), รู้ภาษาคนทุกภาษาและภาษาสัตว์ทุกชนิด และคล่องแคล่วในการสอนธรรม (ขยายความให้เข้าใจก็ได้ ย่อความให้เข้าใจก็ได้)

    *****
    คำกล่าวที่จารึกในแผ่นทองซึ่งบรรจุใต้แท่นพระประธาน เมื่อพ.ศ. 2519 ในแผ่นทองได้จารึกไว้ดังนี้

    “เราพระมหาวีระ มีพระราชานามว่า ภูมิพล เป็นผู้อุปถัมถ์ ร่วมด้วยพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ สร้างวัดนี้เป็นพุทธบูชา เมื่อศักราชล่วงไปแล้ว 2700 ปีปลาย จะมีพระเจ้าธรรมิกราช นามว่า ศิริธรรมราชา สืบเชื้อสายมาจากเชียงแสนและสุโขทัย ร่วมกับพระอรหันต์ จะมาบูรณะวัดนี้ สืบพระศาสนาต่อไป คณะของเราขอโมทนา แต่อยู่ช่วยไม่ได้ เพราะไปพระนิพพานหมดแล้ว”

    อีกทั้งท่านยังได้ตั้งสัตยาธิษฐานฝากลูกหลานของท่านไว้ดังนี้

    “ฉันขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข พร้อมด้วยพระอริยสงฆ์ทั้งหมดและพระพรหม และเทพเจ้าทั้งหมด ขอทุกท่านจงกำหนดจิต จดจำลูกหลานของฉันไว้ ว่าบุคคลใดก็ตาม เมื่อเวลาจะตายขอให้สติสัมปัชัญญะสมบูรณ์ มีจิตน้อมไปในกุศลกรรม และขอให้ได้รับผลที่ฉันได้ทำไปแล้วทุกประการแก่ลูกหลานของฉันทุกคน เวลานี้ฉันมองดูแล้วนะ ตรวจดูแล้ว สิ่งที่ฉันต้องการมันสมใจนึกแล้ว ฉันมีความอิ่มใจบอกไม่ถูก ปลื้มใจที่ความปรารถนาสมหวัง ที่ฉันตั้งใจไว้นาน ปรารถนาไว้นานคิดว่าจะทำไม่ได้ แต่เวลานี้ทำได้แล้ว ลูกหลานของฉันทุกคน มีศรัทธาเป็นอจลศรัทธาแล้ว มีความมั่นคงในพระพุทธศาสนาแล้ว มีความดีพอสมควรแล้ว”

    *****
    “..คนที่ต้องการเป็นศิษย์ ไม่ต้องขออนุญาต ขอให้ปฏิบัติตามนี้ อยู่ที่ไหน ไม่เคยเห็นหน้ากันเลยก็รับเป็นศิษย์ คือ
    1. ศิษย์ชั้น 3
    พยายามรักษาศีล5เสมอ อาจจะขาดตกบกพร่องบ้าง แต่ก็พยายามรักษาให้ครบถ้วนให้มากที่สุดที่จะทำได้ อย่างนี้ ขอรับไว้เป็นศิษย์ชั้น 3 คือ ศิษย์ขนาดจิ๋ว

    2. ศิษย์รุ่นกลาง มีปฏิปทาดังนี้
    มีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ พยายามรักษาอารมณ์ให้ทรงสมาธิเสมอตามสมควร ไม่ละเมิดศีลเป็นปกติ อย่างนี้ ขอรับไว้เป็นศิษย์รุ่นกลาง

    3. ศิษย์เอก มีปฏิปทา ดังนี้
    รักษาศีล5ครบถ้วนเป็นปกติ, เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ไม่สงสัยในความดีของท่าน และขอพระนิพพานชาตินี้

    Read more
  • ๗. ศึกษา - แบ่งปัน ประวัติ ประวัติ-โชว์

    ประวัติและการสร้างสมเด็จองค์ปฐม วัดท่าซุง (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

    “สมเด็จองค์ปฐม” ก็คือพระพุทธเจ้าองค์แรกหรือองค์ที่หนึ่ง ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระพุทธสิกขี” แต่พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ผ่านไปแล้วอาจจะมีชื่อซ้ำกันได้ โดยเฉพาะชื่อนี้มีด้วยกันถึง 5พระองค์ จึงเรียกขานกันว่าเป็น พระพุทธสิกขีที่ 1 พระองค์จึงเป็นต้นพระวงศ์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ จึงสมควรยกย่องพระพุทธองค์ว่า ทรงเป็น “สมเด็จองค์ปฐมบรมครู” อย่างแท้จริง

    สมัยที่สมเด็จพระพุทธองค์ ได้ทรงอุบัติในโลกมนุษย์ ในเวลานั้น คนมีอายุขัยประมาณ 8หมื่นปี พระพุทธองค์ทรงผนวชออกมหาภิเนษกรมณ์ เมื่อพระชนมายุได้ 4หมื่นปี หลังจากทรงผนวชแล้วเป็นเวลาอีก 2หมื่นปี จึงได้ทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณตรัสรู้ เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์แรกของโลก พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ อีกประมาณ 2หมื่นปี จึงเสด็จดับขันธปรินิพาน หลังจากทรงใช้เวลาอันยาวนานถึง 40อสงไขยกัปในการบำเพ็ญพระบารมี เพื่อแสวงหาพระโพธิญาณด้วยพระองค์เอง ทรงใช้เวลาอันยาวนานในการบำเพ็ญพระบารมี เนื่องจากพระพุทธองค์เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์แรก จึงไม่มีแบบอย่างที่จะให้พระพุทธองค์ได้ศึกษาเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อบรรลุพระโพธิญาณ ระยะเวลาที่บำเพ็ญพระบารมี จึงใช้ถึง 40อสงไขยกัปเศษ

    การพบสมเด็จองค์ปฐม ครั้งแรกของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน เมื่อประมาณ พ.ศ.2511 คือท่านกำลังสอนพระกรรมฐาน และเมื่อเสร็จจากการแนะนำ ก็ได้ทำสมาธิ สิ่งที่คาดไม่ถึงก็ปรากฏขึ้น นั่นคือเห็นเป็นพระพุทธเจ้าในปางนิพพานยืน สองแถวยาวเหยียดไปข้างหน้าแล้วก็พนมมือ จึงมีความรู้สึกในใจว่า บางทีอาจจะเป็นอุปาทาน เพราะว่า พระพุทธเจ้าไม่เคยก้มศรีษะให้ใคร แม้แต่บ้านเรือนเล็กๆ ที่หลังคาตํ่าๆ หากพระพุทธเจ้าเข้าไป หลังคาก็จะสูงขึ้น แต่เวลานี้เห็นพระพุทธเจ้ายืนพนมมือ อุปาทานคือกิเลสคงกินใจมาก เมื่อนึกเพียงนี้ ก็เห็นภาพหลวงปู่ปานปรากฏขึ้นข้างข้าง ๆ หลวงปู่ปานท่านบอกว่า ” คุณ..ไม่ใช่อุปาทาน ประเดี๋ยวพระพุทธเจ้าองค์ปฐมจะเสด็จมา ” อีกประมาณสัก 5นาที ปรากฏว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง รูปร่างใหญ่โตมาก สูงมาก มาในรูปของปางนิพพาน เดินมาระหว่างช่องกลาง พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ก้มศรีษะ แสดงความเคารพ เพราะพนมมืออยู่แล้ว พอท่านเดินไปถึงพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ท่านก็ตรัสว่า ” ข้าจะนั่งที่ไหนหว่า… ในเมื่อไม่มีที่นั่ง ข้าก็เอาหัวแกเป็นแท่นก็แล้วกัน ” ก็เลยนั่งบนหัว แล้วท่านก็บอกว่า “นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ก่อนที่แกจะสอนกรรมฐานก็ดี จะพูดธรรมะก็ดี จะเทศน์ก็ดี บอกฉันก่อน ฉันให้พูดตอนไหน จะให้เทศน์ตอนไหน ให้ว่าตามนั้น ”

    ก็เป็นความจริง เมื่อใดก็ตาม ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อ สอนกรรมฐานก็ดี เทศน์ก็ดี บางทีคิดว่าวันนี้จะพูดเรื่องอย่างนี้ แต่พอพูดเข้าจริงๆ เรื่องนั้นไม่ได้พูดไปพูดอีกจุดหนึ่ง อันนี้เป็นลีลาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ การเทศน์ของพระพุทธเจ้ามุ่งเฉพาะบุคคลสำคัญคนใดคนหนึ่งไม่ได้หวังคนทั่วไป คนจะนั่งสักหนึ่งพัน สองพัน ห้าพันก็ตาม ท่านจะดูจิตใจว่า บุคคลใดจะรับคำเทศนาของท่านได้ จะสาารถบรรลุมรรคผลได้ ท่านจะจี้จุดเฉพาะคนนั้นเอาจุดเด่น แต่ว่าคนที่มีความดีใกล้เคียงกันก็พลอยบรรลุมรรคผลไปตามๆ กัน

    อันนี้ก็เช่นเดียวกัน อาตมาเวลาเทศน์หรือสอนกรรมฐานก็ไม่เคยได้พูดตามที่คิดไว้สักที อาจเป็นเพราะท่านดลใจ ถ้าจะถามว่าเป็นที่ชอบใจของคนทุกคนไหม ก็ขอตอบว่าไม่แน่นัก ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าท่านอาจจะจี้จุดเฉพาะคนใดคนหนึ่ง แต่คนบางคนอาจจะไม่ถูกใจก็ได้ นี่เป็นเรื่องธรรมดา ก็จึงมาคิดว่า ในเมื่อท่านมีพระคุณอย่างนี้ และก็เห็นเป็นปกติ จึงคิดจะหล่อรูปของท่าน

    ต่อมาเมื่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อได้เจริญพระกรรมฐานแล้ว จึงได้อาราธนา ขอพบท่านในสมัยที่รูปร่างเป็นมนุษย์ ท่านก็ปรากฏพระองค์ให้เห็น ทรวดทรงสวยมาก หน้าของท่านอิ่มเหมือนรูปไข่ แก้มอิ่ม ยิ้มน้อยๆ ริมฝีปากไม่บุ๋ม ไม่เหมือนพระพุทธเจ้าที่เขาปั้นกัน แก้มตอบปากบุ๋มลงไป แล้วสมเด็จองค์ปฐม ก็แสดงรูปร่างสมัยเป็นมนุษย์ และก็เปลี่ยนมาเป็น ปางนิพพาน พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ก็ถามว่า ถ้าจะปั้นรูปของพระองค์ จะให้ปั้นแบบไหน แบบปางพระนิพพานหรือแบบมนุษย์

    พระพุทธองค์บอกว่า ให้ปั้นแบบนี้ก็แล้วกัน ทรงแสดงภาพให้ดู เป็นเหมือนกับ พระพุทธรูปและมีเรือนแก้ว แบบพระพุทธชินราช รูปที่ทรงให้ปั้นไม่เหมือนกับรูปจริงของพระองค์ตอนเป็นมนุษย์ และก็ไม่เหมือนรูปที่นิพพาน แต่ว่าเป็นรูปที่ท่านต้องการ ท่านมาแสดงแบบนั้นอยู่ถึง 3วันติดๆ กัน วันละประมาณ 1ชั่วโมง ก็ดูจนละเอียด แต่ก็คิดในใจว่า ช่างเขาปั้น แต่เขาไม่เห็นภาพ เขาจะปั้นได้ไม่เหมือน จึงขอบารมีของท่านบอกว่า เวลาช่างปั้น ขอให้โปรดดลใจให้เป็นไปตามพระพุทธประสงค์ ท่านก็ยอมรับ ในที่สุดเมื่อเขาปั้นเสร็จ เขาก็เอามาให้ดูเหมือนกับรูปที่ท่านแสดงจริง ๆ นี่เป็นเรื่องอัศจรรย์

    เมื่อพระเดชพระคุณหลวง พ่อตัดสินใจปั้นรูปของสมเด็จองค์ปฐม ก็นึกถึงพระบรมสารีริกธาตุ เพราะพระพุทธรูปทุกองค์ในสถานที่สำคัญ ก็ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่เป็นพระบรมสารีริกธาตุขององค์ปัจจุบัน จึงคิดว่าจะหาได้จากไหน จึงตัดสินใจว่า ถ้าทำไม่ได้ก็จะเอาขององค์ปัจจุบันบรรจุแทน เพราะถือว่าเป็นคนละขั้นตอน ต่อมา ขณะที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อกำลังจะนอน จิตเริ่มเคลิ้ม ก็ได้ยินเสียงว่า “พระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จองค์ปฐมเอามาให้แล้วนะ วางไว้ที่ตลับบนเตียงข้างๆ หัวนอน” ได้ยินเสียงชัดเจนแจ่มใสมาก เหมือนเสียงขององค์ปัจจุบัน จึงลุกขึ้นไปเปิดไฟ ปรากฎว่าที่ตรงนั้นไม่เคยวางตลับ มีแต่วางหนังสือสำหรับดูก่อนหลับ ก็มีตลับพลาสติคแบบปัจจุบันอยู่ลูกหนึ่ง ไปเปิดดูเห็นพระบรมสารีริกธาตุองค์โตสององค์ ก็ดีใจว่าขององค์ปฐมแน่ จึงเก็บไว้ในที่สักการะบูชา เอาไว้บรรจุพระองค์ท่าน

    การสร้างมณฑปของสมเด็จองค์ปฐม ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญมาก ซึ่งสมเด็จองค์ปฐมได้ชี้สถานที่ให้ เป็นบริเวณที่มีพระบรมสารีริกธาตุสำคัญมาก และเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้คนเดินผ่านไปมา จะเป็นการปรามาสพระรัตนตรัย ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อได้ให้ช่างทำการก่อสร้างมณฑปของสมเด็จองค์ปฐม ณ สถานที่ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

    มาพูดถึงวัสดุที่จะใช้สร้างสมเด็จองค์ปฐม สร้างหน้าตักสี่ศอก เป็นพระหล่อด้วยโลหะ แล้วก็ผสมทองคำ เฉพาะเพชรที่ประดับเรือนแก้วหรือว่าผ้าทิพย์ มีราคาประมาณเจ็ดแสนเจ็ดหมื่นบาทเเศษ แต่ไม่ใช่เพชรจริงๆ ราคาเพชรเม็ดหนึ่งประมาณ 12-13บาทเท่านั้น ก็รวมความว่า ความสำคัญเนื่องในการสร้างองค์ปฐม คือว่าคนไม่เคยคิด หรือว่าอาจจะคิดบ้างก็ไม่ทราบ ว่า พระพุทธเจ้าจริง ๆ ที่มีความลำบากมากคือ “องค์ต้น” เพราะไม่เคยมีพระพุทธเจ้าเป็นครูมาก่อน ต้องลำบากบุกมาทั้ง ๆ ที่ไม่มีแบบ เป็นเหตุดลใจให้ตั้งใจคิดจะเป็นพระพุทะเจ้า ต้องใช้เวลาถึง 40อสงไขยกัปเศษ จึงจะได้บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ดังนั้น การหล่อรูปองค์ปฐมนี้จึงมีอานิสงส์มาก การหล่อรูปสมเด็จองค์ปฐม จึงได้ทำการเททองหล่อ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2535 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา เป็นองค์ประธานจับสายสิญจน์ ในการหล่อพระพุทธรูป โดยมีพระเดชพระคุณหลวงพ่อทำการเททองลงในเบ้าที่ช่างเตรียมไว้ โดยใช้ทองคำที่ญาติโยมร่วมกันถวาย ประมาณ 78 กิโลกรัม

    วันที่ 16 พฤษภาคม 2535 เป็นวันวิสาขบูชา พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้อัญเชิญพระพุทธรูปสมเด็จองค์ปฐม ขึ้นประดิษฐานบนแท่นภายในมณฑป ซึ่งเดิมพระเดชพระคุณหลวงพ่อจะทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จองค์ปฐม แต่เนื่องจากการตกแต่งพระวิหารก็ดี ยังไม่เรียบร้อย จึงต้องเลื่อนไป

    วันที่ 13 มีนาคม 2536 เป็นวันเริ่มงานทำบุญประจำปีของวัดท่าซุง และในวันที่ 14 มีนาคม 2536 ได้นิมนต์พระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา มาเป็นประธาน และได้ทำการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จองค์ปฐมไว้ในพระเกตุมาลาของพระพุทธรูป ท่านพระครูปลัดอนันต์ พุทธญาโณ เจ้าอาวาสวุดท่าซุง ได้อาราธนาพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ นำพระเกตุมาลามาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แล้วอัญเชิญไปสวมที่พระเศียรของพระพุทธรูป แต่เนื่องจากการนำขึ้นไปลำบากและสูง พระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์จึงมีบัญชาให้ท่านเจ้าอาวาสนำขึ้นไปแทน เมื่อเสร็จพิธี พระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้กล่าวว่า “พระองค์นี้มีลาภมากนะ”

    ส่วนอานิสงส์ของการสร้าง สมเด็จองค์ปฐม ลุง 2ลุง นายบัญชีกับลุงพุฒิ (หมายถึงท่านพระยายม) ท่านบอกว่า การสร้างองค์ปฐมนี่ท่านเปลี่ยนบัญชีใหม่ เอาบัญชีมาให้ดู บอกนี่…บัญชีเล่มนี้ (คือว่าเป็นอีกเล่มหนึ่งจากที่ที่จดธรรมดา) “บัญชี สีทอง” เป็นทองคำล้วนทั้งเล่มเลย ท่านบอกถ้าสร้างองค์ปฐมลงบัญชีเล่มนี้โดยเฉพาะ ก็แสดงว่าคนที่จะสร้างพระพุทธเจ้าองค์ปฐมได้นี่ ต้องเป็นคนมีบุญมาก เพราะว่าการสร้างพระพุทธเจ้าองค์ปฐมทำได้ยาก คือว่าเป็นพระพุทธเจ้าต้นพระพุทธเจ้าทั้งหมด และการทำบุญเนื่องในการสร้างวิหารก็ดี สถานที่ก็ดี เอาของไปประดับก็ตาม อย่างนี้ลงบัญชีสีทองหมด คือไม่หมายความต้องมีเงินมากเสมอไป ที่เขามีน้อย ๆ บาทสองบาท สิบสตางค์ยี่สิบสตางค์ พวกนี้เอาไปใส่แท่น อย่างนี้ลงบัญชีสีทองหมด ก็ถามว่าบัญชีสีทองหมายถึงอะไร ท่านบอกมันหมายถึงกลับไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าทุกองค์ต้องโมทนาหมด

    การหล่อสมเด็จองค์ปฐมด้วยทองคำนี่ อานิสงส์จะเหมือนกับหล่อพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน แต่ว่าต่างกันอยู่นิดหนึ่งที่ไปนิพพานเร็ว ไปนิพพานเร็วมาก เพราะเขาเข้าบัญชีสีทองไม่ใช่ตัวทอง บัญชีทั้งเล่มเป็นทอง ลงบัญชีเล่มนั้น

    (คัดมาจากหนังสือประวัติการสร้างสมเด็จองค์ปฐม โดยพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง อุทัยธานี)

    ***************************************************************

    คำสอนสมเด็จองค์ปฐมบรมครู (สมเด็จพระพุทธสิขีทศพล ที่ 1)

    หลวงพ่อได้เมตตา สรุปใจความสั้นๆ ตามที่ท่านเทศน์ไว้ดังนี้…..

    “ท่านทั้งหลาย การหลบหลีก ไม่ต้องตกอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น เป็นของไม่ยาก
    1. ขอทุกท่าน จงอย่าลืมความตาย จงคิดว่าความตาย อาจจะมีกับเราเดี๋ยวนี้ไว้เสมอๆ
    2. เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ด้วยศรัทธาแท้(ด้วยความจริงใจ)
    3. มีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ และ
    4. เป็นกรณีพิเศษ ปฏิเสธการเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา นางฟ้า และพรหมในชาติต่อไป ทุกท่านเห็นนิพพานแล้ว ตั้งใจไปพระนิพพานโดยเฉพาะ เท่านี้ทุกท่านจะหนีอบายภูมิพ้น และไปพระนิพพานได้ในที่สุด”

    หมายเหตุ : เทศน์ที่ ”เทวสภา” วันที่ 8 สิงหาคม 2535 เวลา 8.00 น. พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระราชพรหมยาน เมตตาเล่าให้ลูกหลานฟัง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2535 เวลา 21.00 น.

    **********************************************************

    Read more
  • ๗. ศึกษา - แบ่งปัน ประวัติ ประวัติ-โชว์

    ศึกษาสมบัติพ่อให้ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง

    ผมตั้งใจทำ ร้าน ” เศรษฐีธรรม ” ให้เป็นแหล่งศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับสมบัติพ่อให้ ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง พยายามรวบรวมทั้งพระบูชา พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคลรุ่นต่างๆที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้สร้างขึ้นไว้ให้ลูกหลาน มีลงไว้มากมายหลายรุ่นให้ได้ศึกษากัน (น่าจะมากกว่า 90%ของพระที่หลวงพ่อได้สร้างไว้) ผู้ที่สนใจจะศึกษาและเรียนรู้ เชิญแวะเข้าชมเข้ากันได้นะครับ เข้าชมได้ทาง FB Fanpage: www.facebook.com/settheetham (อย่าลืม กด LIKE กดติดตามที่หน้าเพจกันด้วยนะครับ จะได้ไม่พลาดชมพระที่ลงให้ศึกษากัน) และ ที่ร้านเศรษฐีธรรม www.settheetham.com รับประกันว่าไม่ผิดหวังครับ

    นึกอะไรไม่ออกเกี่ยวกับพระหลวงพ่อ เปิดเข้า “ร้านเศรษฐีธรรม” มีคำตอบให้ครับ ^_^

    Read more