พระบูชา บูรพาจารย์

  • พระบูชา บูรพาจารย์ พระยอดนิยม

    ***บูรพาจารย์*** พระอาจารย์ในสายของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง

    ตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้กล่าวถึงไว้ใน “หนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน” ครูบาอาจารย์ที่สอนในส่วนปฏิบัติกรรมฐานแก่หลวงพ่อจะมีอยู่ด้วยกันหลายท่าน และบางท่านที่หลวงพ่อท่านกล่าวถึงจะเป็นอาจารย์ของหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค แต่ท่านขอถือว่าท่านอาจารย์เหล่านั้นเป็นเสมือนครูบาอาจารย์ของท่านด้วย

    1. พระครูวิหารกิจจานุการ (หลวงพ่อปาน สุทธาวงษ์) วัดบางนมโค
    – ท่านเป็นปฐมาจารย์ผู้สั่งสอนเป็นองค์แรก สอนกรรมฐานทุกอย่างทุกตอนแก่หลวงพ่อ

    2. หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
    – ท่านเป็นพระอาจารย์องค์แรกของหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค ที่สอนกรรมฐานทุกอย่างให้หลวงปู่ แล้วถ่ายทอดวิชาความรู้มายังหลวงพ่ออีกที

    3. หลวงพ่อปั้น วัดพิกุล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
    – ท่านเป็นพระสหายธรรมของหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ เป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค

    4. หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
    – ท่านเป็นพระสหธรรมมิกของหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ เป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค ที่หลวงพ่อสุ่นบอกให้หลวงปู่ปานท่านไปเรียนวิชาความรู้ด้วย

    5. หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน (วัดอัมพวัน) อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี
    – ท่านเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อเนียม วัดน้อย เป็นพระสหธรรมมิกของหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค และเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อ

    6. หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา
    – ท่านเป็นพระสหธรรมมิกของหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค และเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อ

    7. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สมเด็จนวม) วัดอนงคาราม
    – ท่านเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อ ครั้งที่หลวงพ่อเข้ามาเรียนบาลี และพำนักอยู่ที่วัดอนงคาราม

    8. พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด) วัดปากน้ำภาษีเจริญ
    – ท่านเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อ ครั้งที่หลวงพ่อเข้ามาเรียนเปรียญธรรมที่กรุงเทพฯ

    9. พระครูอุดมสมาจารย์ (หลวงพ่อสังข์) วัดน้ำเต้า อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
    – ท่านเป็นศิษย์สายกรรมฐานของหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ และเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อ

    Read more
  • พระบูชา บูรพาจารย์

    พระบูชา5นิ้ว พระครูอุดมสมาจารย์ (หลวงพ่อสังข์) วัดน้ำเต้า

    ท่านเป็นศิษย์สายกรรมฐานของหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ และเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อ

    **********************************************

    หลวงพ่อสังข์ วัดน้ำเต้า เป็นอาจารย์ของ หลวงปุ่ทิม วัดพระขาว หลวงพ่อเอียด วัดไผ่ล้อม หลวงพ่อล้วน วัดพิกุลโสคันธ์ 3 เกจิแห่งบางบาล

    หลวงพ่อสังข์เป็นพระดังเงียบ เนื่องจากไม่ชอบสร้างวัตถุมงคล ท่านเคยกล่าวว่า การที่ท่านสร้างวัตถุมงคล ก็จะมีแต่คนมาขอแต่ของพวกนี้ ท่านกลัวจะไม่ได้ปฏิบัติธรรม เนืองจากท่านเป็นพระที่เคร่งการปฏิบัติ

    หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ยังเคยชมท่านว่า “ต่อไปคุณสังข์จะเป็นพระที่มั่นคงอยู่ในพระพุทธศาสนาอีกรูปหนึ่ง” ท่านประทับใจหลวงพ่อสังข์ตอนมาเป็นพระกรรมวาจารย์ให้ เมื่อตอนหลวงพ่อสังข์บวช

    และหลวงพ่อปั้น วัดพิกุล (อาจารย์ของหลวงพ่อจง) ยังชมว่า “เจ้าเณรสังข์องค์นี้ ต่อไปจะเป็นเสมือนช้างเผือกประจำกรุงศรีอยุธยา…”

    (สมัยนั้นบวชเป็นเณรกับหลวงพ่อปั้น) ซึ่งหลวงพ่อปั้น มีความรักและเมตตากับสามเณรสังข์มาก

    ท่านเคร่งขนาดไม่ยอมสร้างพระ(หลังๆมา สร้างแต่น้อยมาก) เพราะกลัวคนจะมาขอแต่พระ ของดี จนไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม (ท่านชอบปฏิบัติธรรมในป่าช้า) ท่านเคร่งทุกกระเบียดนิ้ว ขนาดคนถวายของ ต้องถูกต้องตามพระวินัย ห่างกันเท่าไหร่ ต้องยกประมาณไหน เลยที่เดียว แต่จริงๆแล้วท่านก็ทำเพื่อ ชาวบ้านเพราะตามหลักการถวายผิดวิธี ทำให้พระอาบัติ สุดท้ายบาป ก็มากตกอยู่ที่ชาวบ้านได้

    มีอยู่ครั้งนึง เจ้าอาวาสวัดขวิดเอาน้ำล้างจานข้าวที่ฉันแล้วเทราดลงบนศรีษะของสามเณรสังข์ ซึ่งขณะนั้นสามเณรสังข์ท่านกำลังนั่งฉันอาหารอยู่บนศาลาที่กำลังมีญาติโยมร่วมทำบุญเพราะเป็นวันพระ แต่สามเณรสังข์ท่านก็ยังนั่งฉันไปตามปกติ ไม่ได้แสดงอาการโกรธเคืองอะไรเลย…

    ซึ่งพระครูปุ้ย ท่านมาเฉลยภายหลังว่าสาเหตุที่ท่านเทน้ำล้างจานข้าวลงบนศรีษะสามเณรสังข์นั้น

    “เพื่อจะลองใจสามเณรน้อยดูว่าสามารถปฏิบัติกัมมัฏฐานจนสามารถเอาชนะความโกรธ อำนาจแห่งกิเลสได้หรือยัง”

    เล่าลือกันว่าจากเหตุการณ์นั้นทำให้ ความศรัทธาจากชาวบ้านต่างเทลงที่สามเณรน้อย เลยทีเดียว

    หลวงพ่อสังข์ท่านเจนจบในพระปาฏิโมกข์ และพระไตรปิฏก ได้ตั้งแต่ยังเป็นเณร

    ด้วยความมีชื่อเสียงในเรื่องของความสามารถสวดพระปาฏิโมกข์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ทำให้พระเณรในยุคนั้นต่างให้ความเคารพยำเกรงต่อสามเณรสังข์ ก็จะไม่ให้ยำเกรงได้อย่างไร

    ในเมื่อสามเณรสังข์ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงภูมิความรู้ทั้ง “ข้ออนุญาตและข้อห้าม” ในพระวินัยเป็นอย่างดี นี่คือต้นเหตุความเคร่งของท่าน เก่งตั้งแต่เป็นเณร

    “ฉันก็เป็นศิษย์หลวงพ่อปั้น หลวงพ่อจง แต่ที่ฉันไม่อยากเปิดเผยอะไรกับใครเพราะเมื่อเขารู้แล้วจะพากันมาขอนั้นขอนี่ ทำให้เราไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานภาวนา”

    “ของดีๆ แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจก็คือธรรมะ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นำไปใช้เถอะได้ผลแน่

    ขอแต่ให้ปฏิบัติอย่างจริงใจเท่านั้นแหละ ย่อมได้ผลคือความสุขกาย สบายใจได้ดีกว่าไปอาศัยเครื่องรางของขลังเหล่านั้น….”

    โอวาทธรรมหลวงพ่อสังข์ ปุญญสิริ

    Read more
  • พระบูชา บูรพาจารย์ พระบูชาบูรพาจารย์-โชว์

    พระบูชา5นิ้ว หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ดินไทย

    หลวงพ่อท่านเคยไปจำพรรษาอยู่ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า ช่วงปี2508-2510 ท่านนับถือหลวงปู่ศุขเป็นเสมือนครูบาอาจารย์อีกท่านนึง และได้สร้างรูปเหมือนหลวงปู่ศุขเป็น 1 ใน 4 พระหลวงพ่อทั้ง 4 พระองค์ (สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า – หลวงปู่ใหญ่ วัดท่าซุง – หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า – หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค) ที่ให้ลูกหลานเข้ามากราบขอพรและบนบานศาลกล่าว ใครที่บนแล้วได้ตามความประสงค์ ก็จะกลับมาแก้บนกัน

    พระบูชาหลวงปู่ศุของค์นี้สภาพเก่า ใต้ฐานดินไทย และที่ป้ายชื่อด้านหน้าเขียนเป็น “หลวงพ่อศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า”

    Read more
  • พระบูชา บูรพาจารย์

    พระบูชา5นิ้ว หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก

    ท่านเป็นพระสหายธรรมของหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค และเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อ

    *********************************************

     

    หลวงพ่อจง  พุทธัสสโร  ท่านมีนามเดิมว่า “จง”  กำเนิดมาในตระกูลชาวนาในท้องที่ตำบลหน้าไม้  อำเภอบางไทร  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เรียกว่าเป็นเชื้อสายแห่งคนดีศรีอยุธยาอีกคนหนึ่ง  ที่ทั่วสรรพางค์กายล้วนเต็มเปี่ยมด้วยเลือดนักสู้  สมชาติชายไทย  บิดาท่านมีนามว่า นายยอด  มารดานามว่า  นางขลิบ  ซึ่งท่านทั้งสองมีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งสิ้น 3 คน คือ

    1. เด็กชายจง  ต่อมาคือ  หลวงพ่อจง  พุทธัสสโร  เป็นบุตรคนโต
    2. เด็กชายนิล  เป็นคนรอง  ต่อมาคือพระอธิการนิล  เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน
    3.  เด็กหญิงปลิก  เป็นน้องคนเล็ก และเป็นผู้หญิงคนเดียว
    สำหรับวันเดือนปีเกิดหรือวันถือกำเนิดของหลวงพ่อจง  พุทธัสสโร นั้น เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ล่วงเลยผ่านพ้นมานาน  อีกทั้งการบันทึกก็มิได้มีหลักฐานที่เด่นชัด  เป็นแต่ระบุไว้พอรู้ความว่า  ได้กำเนิดในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี  ณ  วันพฤหัสบดี เดือน 4 ปีวอก  อันเป็นวันขึ้น 8 ค่ำ ที่ตรงกับวันที่ 6 เดือนมีนาคม พ.ศ.2415  และด้วยเวลานั้นยังไม่มีการใช้ชื่อสกุล  จึงไม่มีการระบุชื่อนามสกุลเดิมของท่านไว้

    วัยเยาว์

    เด็กชายจง  บุตรชายคนโตของคุณพ่อยอด  คุณแม่ขลิบ  เมื่อกำเนิดลืมตาดูโลกแล้ว  ได้รับการเลี้ยงดูตามฐานะแห่งตระกูล  เช่นลูกหลานชาวท้องทุ่งท้องนาทั้งหลาย  มิได้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีลักษณะพิเศษเกินกว่าเด็กชาวนาคนอื่น ๆ เลยแม้แต่น้อย หรือแม้แต่อากัปกริยาที่จะแสดงอาการส่อแววว่า  ในโอกาสต่อมาเมื่อเติบใหญ่แล้ว  ชีวิตจะต้องก้าวเข้ามาสู่ฐานะภิกษุสงฆ์  อันเป็นที่เคารพบูชาของมวลชนทั้งหลาย  ดังที่ปรากฎเป็นเกียรติคุณเป็นที่ล่ำลือกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

    แต่ทว่าชีวิตในวัยเยาว์ของหลวงพ่อจง หรือเด็กชายจงในเวลานั้น  กลับปกปิดความเป็นคนเหนือคนสามัญทั้งหลายไว้อย่างมิดชิดแนบแน่น  ด้วยการอยู่ในฐานะเช่นผู้อาภัพอับโชค  อุดมไปด้วยทุกขโรคามากกว่าชีวิตที่เป็นสุข มีความร่าเริงเบิกบานตามวิสัยเด็กทั้งหลายโดยทั่วไป ด้วยการที่เด็กชายจง  ถูกโรคาพยาธิเบียดเบียนมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย  จึงทำให้รูปร่างหน้าตาในสมัยเป็นเด็กค่อนข้างจะผอมโซ  หน้าตาซีดเซียว  ร่างกายไม่แข็งแรงดังเช่นลูกชาวนาทั้งหลาย  ซ้ำยังมีอุปนิสัยค่อนข้างจะขี้อาย เซื่องซึม ขาดความกระตือรือร้น ชอบเก็บตัวอยู่ตามลำพัง  ลักษณะดังเป็นเช่นเด็กทุพพลภาพ ที่ร้ายไปกว่านั้น  เด็กชายจงยังถูกเคราะห์กรรมซ้ำเติมให้มีอาการหูอื้อจนเกือบหนวก  รับฟังเสียงอะไรต่างไม่ถนัดชัดเจน  นัยน์ตามืดมัว ฝ้าฟาง มองอะไรไม่ชัดเจน ทำให้อากัปกริยาการเคลื่อนไหวไปมาพลอยเชื่อช้าแบบเก้ ๆ กัง ๆไปด้วย และเป็นคนพูดน้อย  ชนิดถามคำก็ตอบคำ  หรือไม่ยอมพูดเอาเสียเลยก็มี  เหล่านี้คือบุคคลิกภาพในสมัยเยาว์วัยของเด็กชายจง

    เป็นเช่นยามเฝ้าบ้าน

    จากบุคคลิกภาพดังกล่าวมาของเด็กชายจง  ผสมกับสุขภาพที่ไม่สู้จะสมบูรณ์นัก  วัยเยาว์อันควรเป็นวัยที่แจ่มใสสดชื่น จึงเต็มไปด้วยความออดแอดขี้โรค ยิ่งเติบโตจากอายุ 8 ขวบ ไปแล้ว  อาการต่าง ๆ เหล่านั้นก็ยิ่งแสดงทีท่าว่าจะกำเริบหนัก  เลยทำท่าว่าจะไปไหนมาไหนโดยลำพังไม่ได้เสียเลย เขาว่าคืนนี้มีลิเกสนุกอยากจะไปดู ก็ต้องให้ญาติพี่น้องจูงไม้จูงมือไต่เต้าตามหัวคันนา  บุกน้ำท่องโคลน เดินเดาสุ่มตามหลังคนอื่นไป พอไปถึงแล้วถึงเวลาลิเกเล่น มองเห็นตัวลิเกมั่งไม่เห็นมั่งไปตามเรื่อง  เพราะสายตาไม่ดี  และมักจะหลบฝูงชนออกไปซุ่มดูอยู่ห่าง ๆ ตามโคนต้นไม้ห่างจากผู้คนอื่น ๆ ไม่นิยมการไปรวมกลุ่มอยู่กับใคร ๆ

    การไปดูลิเกของเด็กชายจง  จะว่าเป็นการหาความบันเทิงจากการฟังเสียง ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็เพราะนอกจากตาไม่แจ่มใสแล้ว หูก็ยังไม่สามารถฟังเสียงอะไรได้ถนัดอีกด้วย  เสียงกลอง เสียงปี่ พิณพาทย์ เครื่องเสียงประกอบการแสดงของลิเก ถึงฟังได้ก็ไม่ตลอด แบบได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง  เอาเรื่องเอาราวอะไรไม่ได้ สรุปแล้ว การไปดูลิเกของเด็กชายจงจึงมีค่าเท่ากัน  จะไปหรือไม่ไปดูก็ไม่มีอะไรต่างกัน  ฉะนั้น เมื่อมีผู้ถามว่า “ไง…ไปดูลิเกสนุกไหม”  คำตอบก็คือ หัวเราะ  หึ หึ ครั้นถูกถามว่าลิเกเล่นเรื่องอะไร คำตอบก็เช่นกันคือเพียงหัวเราะ หึ หึ  มีเหมือนกันเมื่อถูกรุกถามหนัก ๆ เข้าจึงตอบเป็นคำพูดสักคำว่า”อือม์…สนุก”และนั่นก็เป็นคำตอบที่ยาวที่สุด นาน ๆ ครั้งจึงจะมีผู้ได้ยินคำตอบอย่างนี้สักครั้งหนึ่ง  แต่จะมีเฉพาะกรณีถูกรุมเร้าหรือถูกรุมหนักเท่านั้น

    ดังนั้นต่อ ๆ มา ลิกงลิเกหรืองานวัดอะไรต่างก็ไม่มีโอกาสได้ดูกับใครอื่นเขา เพราะคนที่จะพาจูงไปคร้านที่จะเอาธุระ  ซึ่งจะเพิ่มภาระให้เกิดแก่ตนเอง ในที่สุดเด็กชายจงจึงได้รับมอบหมายหน้าที่ใหม่ให้เป็นพิเศษ คือเป็นยามเฝ้าบ้าน  ใครเขาจะไปไหนมาไหนก็ตามแต่  เด็กชายจงเป็นได้เฝ้าบ้านทุกครั้ง  แต่ก็มีอยู่ประการหนึ่งที่เด็กชายจงไม่ยินยอมเป็นยามเฝ้าบ้านให้เป็นเด็ดขาด  คือในเวลาที่มีการทำบุญตักบาตร  การไปวัดในวันธรรมสวนะ  เด็กชายจงเป็นต้องรบเร้าขอร้องให้พ่อแม่ ญาติพี่น้อง พาตนไปด้วยให้จงได้  ซึ่งถ้าถูกปฏิเสธห้ามปราม  เขาจะคร่ำครวญร่ำไห้แสดงความทุกข์ออกมาให้เห็นอย่างน่าสงสาร จึงเป็นอันว่า เด็กชายจงจะได้ออกนอกบ้านก็เฉพาะแต่การไปทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม ตามโอกาสงานบุญเท่านั้น

    เข้าวัด….อยู่วัด

    ชีวิตของหลวงพ่อจง  พุทธัสสโรในวัยเด็กไม่มีสิ่งใดผันแปร คงเป็นไปอยู่เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ ราบเรียบดังเช่นน้ำในอ่างดังเช่นที่กล่าวมาแต่ต้น  จนกระทั่งอายุได้  12  ปี ความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้น  คือทางพ่อแม่มีความเห็นถึงอุปนิสัยของเด็กชายจง  บุตรชายคนโตตรงกันว่า  เป็นผู้มีความชอบวัด ติดวัด รักชอบในอันที่จะไปวัดมากกว่าที่เที่ยวเตร่หาความสนุกในที่ใด ๆ ทั้งหมด

    ดังนั้น  ท่านจึงสรุปความตรงกันว่า  เมื่อเด็กชายจงชอบวัด ต้องการจะไปวัดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  แทนที่ตนหรือคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องลำบากจูงมือนำพาลัดเลาะคันนา ถึงแม้จะไม่ห่างไกลเท่าใดนักก็ตามเถิด  แต่เมื่อต้องทำอยู่ทุกบ่อย ก็ให้เกิดความคิดว่าน่าที่จะให้ไปอยู่วัดเสียเลย คิดเห็นตรงกันดังนั้นแล้ว  จึงได้เผยความคิดเห็นดังกล่าวให้เจ้าตัว  คือเด็กชายจงได้รับรู้ด้วย  แทนที่จะคิดเสียใจน้อยใจในทำนองที่ว่า พ่อแม่จะตัดหางปล่อยวัดหรือเลยเถิดไปถึงว่าพ่อแม่สิ้นรักสิ้นเมตตาตนแล้ว  กลับเป็นความปลื้มปิติใจเป็นอย่างยิ่ง  เพราะวัดเป็นที่ร่มเย็น เป็นที่ปรารถนาของตนอยู่แล้ว  เด็กชายจงจึงรับคำพ่อแม่อย่างเต็มอกเต็มใจไม่มีอิดออด เวลาต่อมา เด็กชายจงจึงได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดหน้าต่างใน  อันเป็นวัดใกล้บ้าน ที่เด็กชายจงเคยไปมาหาสู่อยู่เสมอนั่นเอง  และนับเป็นเรื่องแปลกประหลาดมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง  ตั้งแต่ได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว  โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รวมทั้งโรคหูอื้อ ตาฝ้าฟาง ที่เป็นเรื้อรังมานานปีกลับหายไปจนหมดสิ้น สามเณรจงกลับมีสุขภาพสมบูรณ์พลานามัยดีมาก  เป็นสุขอยู่ในเพศพรหมจรรย์  ดุจเป็นนิมิตให้ทราบว่า  ท่านจะต้องครองเพศมีชีวิตอยู่ใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ไปตลอดชีวิต  สมดังพุทธอุทานที่ว่า….สาธุ โข ปพพฺชชา…การบรรพชายังประโยชน์ให้สำเร็จ

    ดังนั้น  เมื่ออายุครบอุปสมบทในปี พ.ศ.2435  โยมบิดามารดาจึงจัดพิธีอุปสมบทให้ได้เป็นพระภิกษุต่อไป  ณ พัทธสีมาวัดหน้าต่างในที่พำนักอยู่ โดยมี พระอุปัชฌาย์สุ่น (หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ)  เจ้าอาวาสวัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อินทร์  เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอก  เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารโพธิ์  เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน  เป็นพระอนุสาวนาจารย์ จากพิธีอุปสมบทในครั้งนั้น  พระภิกษุจงได้รับสมญานามตามเพศภาวะว่า “พุทธัสสโรภิกขุ”  และพำนักเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย  ตลอดจนวิชาการต่าง ๆ ที่พระภิกษุพึงจะต้องเรียนรู้เท่าที่มีอยู่ในสมัยนั้น ณ วัดหน้าต่างในนั่นเอง

    เรียนวิชาอาคม

    ชีวิตของหลวงพ่อจง  หลังจากที่ได้อุปสมบทแล้ว  ได้ปรากฎเหตุอันน่าแปลกมหัศจรรย์เด่นชัดขึ้น  เพราะนอกจากจะหายป่วยหายไข้แล้ว  เมื่อได้มาศึกษาหาความรู้ในด้านธรรมะ คือได้ศึกษาพระปริยัติธรรมและธรรมสิกขา  พร้อมทั้งฝึกฝนในด้านการเขียนอ่านอักษรทั้งไทยและขอมจากท่านพระอาจารโพธิ์  เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน  ซึ่งเป็นพระอนุสาวนาจารย์

    พระภิกษุจงได้แสดงออกถึงความในอัจฉริยะ  ด้วยการเรียนรู้จดจำสิ่งที่ได้รับถ่ายทอดมาอย่างแม่นยำและเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง  จนใคร ๆ ทั้งหลายที่รู้พื้นความเป็นมาต่างพากันอดแปลกใจสงสัยเสียมิได้ว่า “เอ๊ะ..ทำไมภิกษุจงจึงมิยักงมโข่งหรืออุ้ยอ้ายอับปัญญา  เหมือนกับบุคลิกที่อ่อนแออมโรค  ที่ส่อแสดงว่าน่าจะเป็นไปในทางทึบหรืออับ เรียนรู้จดจำอะไรไม่แม่นยำ” และยิ่งเพิ่มความแปลกมหัศจรรย์แปลกไกลไปกว่านั้น  ภายหลังจากที่ได้กระจ่างแจ้งในพระธรรมและภาษาหนังสือพอสมควรแล้ว  พระอาจารย์โพธิ์ที่เล็งเห็นแววว่าน่าจะเป็นไปได้ของพระภิกษุจง  ได้ให้การถ่ายทอดวิชาในด้านเวทวิทยาคมที่ท่านเชี่ยวชาญจนเป็นที่เลื่องลือ  ถือกันว่า พระอาจารย์โพธิ์คือยอดแห่งผู้ทรงเวทในสมัยนั้นให้กับพระภิกษุจงด้วย ผลก็ปรากฎว่า พระภิกษุจงสามารถน้อมรับวิชาไว้ได้ทุกกระบวนมนต์ สำเร็จแตกฉานชนิดสิ้นภูมิผู้เป็นอาจารย์กันเลยทีเดียว  และด้วยการได้รับถ่ายทอดวิชาให้ชนิดไม่มีการปิดบังซ่อนเร้นภูมิรู้ใดไว้ของพระอาจารโพธิ์  จึงทำให้พระภิกษุจงได้ก้าวเข้ามาทำหน้าที่เป็นที่รวมใจ  ที่พึ่งพิงของญาติโยมแทนผู้เป็นอาจารย์ในเวลาต่อมา

    ฝึกกรรมฐาน

    การแสวงหาความรู้ของพระภิกษุจง  มิได้หยุดยั้งอยู่แต่เพียงภายในวัดหน้าต่างในที่พักอาศัยเท่านั้น  เมื่อเจนจบในภูมิความรู้ของพระอาจารย์โพธิ์ผู้เป็นอาจารย์แล้ว  ท่านยังคงเสาะแสวงหาที่เรียนต่อไปอีก  ได้รู้ได้ทราบข่าวว่าที่หนึ่งที่ใด สำนักไหนมีครูบาอาจารย์ที่ทรงภูมืความรู้  จะเป็นวิชาแขนงใดก็ดี หากเห็นว่าไม่ขัดฝืนต่อธรรมวินัย เป็นวิชาที่เอื้อต่อการพัฒนาจิตใจของตน  พระภิกษุจงเป็นไม่ลดละที่จะหาทางไปฝากตนเป็นศิษย์เรียนวิชาด้วย หนทางที่ไกลแสนไกล ระหว่างทางล้วนมีแต่ความยากลำบากต้องฝ่าฟันในอุปสรรคและเสี่ยงต่อภยันตรายนานาสารพัดอย่าง  มิใช่สิ่งที่จะหยุดยั้งเปลี่ยนวิถีความตั้งใจในการเรียนรู้หาวิชาของภิกษุจงได้  สองเท้าท่านคงย่ำไปจนถึงทุกสำนัก แล้วก็กลับคืนมาพร้อมความสำเร็จทุกแขนงวิชาแห่งสำนักนั้น ๆ ทุกครั้งคราวไป อย่างเช่นการไปเรียนวิชาฝ่ายกรรมฐาน กับพระอาจารย์หลวงพ่อปั้น วัดพิกุล ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง  เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า  ท่านเป็นพระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสีผู้ยิ่งใหญ่ที่แตกฉานในสมถะวิปัสสนากรรมฐานท่านหนึ่งในยุคสมัยนั้น พระภิกษุจงได้ไปฝากตัวหมั่นศึกษาพากเพียรเรียนวิชาด้วยอิทธิบาทที่แก่กล้าเป็นเวลาช้านาน  จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับในภูมิธรรมจากผู้เป็นอาจารย์  จึงได้เดินทางกลับสู่วัดหน้าต่างใน

    เป็นเจ้าอาวาส

    ในขณะที่พระภิกษุจง ยังคงพำนักอยู่กับผู้เป็นอาจารย์ คือท่านพระอาจารย์โพธิ์ ที่วัดหน้าต่างใน  ซึ่งมีบ้านเป็นครั้งเป็นคราวที่ท่านขออนุญาตจากผู้เป็นพระอาจารย์ ไปเรียนวิชายังสำนักอื่น แต่เมื่อเจนจบหลักสูตร เป็นต้องกลับคืนสู่วัดหน้าต่างในต้นสังกัด ทุกครั้งไป แม้ว่าเวลานั้น ท่นจะยังคงอยู่ในฐานะพระลูกวัดศิษย์เจ้าอาวาสท่านพระอาจารย์โพธิ์  แต่ชีวิตแห่งการบวชเข้ามาอยู่ในเพศบรรพชิตของพระภิกษุจงก็นับได้ว่า เป็นชีวิตที่ได้รับความสำเร็จผลสมความตั้งใจ  เป็นผู้รู้พระปริยัติธรรมตามฐานานุรูป  และการปฏิบัติกรรมฐานทำความเข้าใจในพระธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เพื่อใช้ปฏิบัติจิตให้บังเกิดความสงบสุขและบรรลุเข้าสู่วิถีแห่งความพ้นทุกข์  ตลอดจนเป็นผู้รอบรู้เจนจบในทางเวทย์วิทยาคม  ซึ่งมีพระอาจารย์โพธิ์เป็นปฐมพระอาจารย์ประสาทวิชาให้ วิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา  นอกจากจะยังประโยชน์ให้บังเกิดเป็นความสุขสงบเย็นเฉพาะตนแล้ว  ยังสามารถใช้เป็นเครื่องกล่อมเกลาบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้อื่นตามควรแก่ฐานานุรูป  ตามด้วยความเหมาะควรแก่กาละเทศะต่อปวงชนทั้งหลาย ทั้งทางกายและทางใจด้วย

    ด้วยภูมิธรรมความรู้ อันเกิดจากความวิริยะพากเพียรที่หนุนเนื่องด้วยบุญบารมีเดิม  จึงทำให้ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาของญาติโยมปวงชนทั้งหลาย  ซึ่งนับวันก็แต่จะมีจิตศรัทธาเลื่อมใสมากยิ่ง ๆ ขึ้น  ฉะนั้น ต่อมาเมื่อหลวงพ่ออินทร์สิ้นบุญในอันที่จะครองเพศเป็นภิกษุ  ทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกได้ต่อไป  ทำให้หน้าที่การดูแลวัดปกครองสงฆ์ของวัดหน้าต่างนอกว่างลง  ซึ่งจำต้องรีบหาและแต่งตั้งเป็นการด่วน ในความคิดความเห็นของบรรดาศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย  ต่างเห็นพ้องต้องกันอย่างไม่มีการนัดแนะมาก่อนว่า  พระภิกษุจง  พุทธัสสโร ศิษย์ของท่านพระอาจารย์โพธิ์ วัดหน้าต่างใน  เพราะสมกว่าใครอื่นทั้งหมด ด้วยความเห็นนั้น  จึงได้ชักชวนกันไปหาท่านพระอาจารย์โพธิ์เพื่อขอพระภิกษุจงให้มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสที่วัดหน้าต่างนอก  แทนท่านพระอาจารย์อินทร์  พระอาจารโพธิ์ได้รับรู้แล้ว พิจารณาเห็นถึงความเหมาะสมหลาย ๆ ประการ  เริ่มแต่ความศรัทธาของญาติโยมชาวบ้าน  ความเหมาะสมของผู้เป็นศิษย์  จึงเห็นควรตามที่ญาติโยมเขามาขอ เมื่อศรัทธาเรียกร้อง  พระอาจารย์เห็นชอบ  พระภิกษุจงจึงมาทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกนับแต่นั้นมา

    อยู่อย่างพระ

    พระภิกษุจง  พุทธัสสโร  เมื่อมารับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกแล้ว  ก็ถูกขนานนามเป็น “หลวงพ่อจง”  ซึ่งเป็นการเรียกขานด้วยความเคารพเทิดทูน  ซึ่งเมื่อได้รับความเคารพบูชาเช่นนั้น  หลวงพ่อจงท่านก็ยิ่งพยายามปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดในศีลธรรมวินัย  เจริญวัตรตามฐานะที่ผู้อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพบูชาพึงจะกระทำตามสิกขาบท เฉพาะที่เกี่ยวกับชาวบ้านท่านได้สำแดงจิตอัธยาศัย  แผ่ไมตรีโอบอ้อมอารีต่อทุกบุคคลไม่เลือกหน้าว่าเป็นใคร  จะยากดีมีจนอย่างไร  หรือแม้แต่เป็นคนถ่อยชั่วจนชื่อว่าเป็นพาลชนจะเข้าหารือขอร้องให้ช่วยงานช่วยกิจธุระหรือช่วยทุกข์ หรือนิมนต์ให้ไปโปรดที่ไหน ไม่ว่าหนทางใกล้ไกลอย่างไร  ท่านเป็นยอมรับยินดีกระทำธุระปลดเปลื้องบำเพ็ญกรณีให้ผู้มาขอได้รับความสุขตามปรารถนาอยู่เสมอ  ทำตามกำลังปัญญาของท่านโดยควรแก่ฐานานุรูปและกาลเทศะด้วยความเต็มใจอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส

    อากัปกิริยาของหลวงพ่อจงที่ปรากฎให้ทุกคนเห็น จะไม่มีการอำอึ้งขึ้งโกรธ แสดงความไม่ชอบใจ ไม่พอใจ หรือแม้การตั้งแง่อิดออดแต่อย่างใดเลย  ทุกคนที่ไปพบไปหาจะสัมผัสกับความเมตตา ความยิ้มแย้มยินดีทุกครั้ง หลวงพ่อจง มองคนทุกชั้นว่าเหมือนกัน  และเท่าเทียมกันโดยสภาพแห่งมนุษย์ ไม่มีชั้นวรรณะ  ท่านต้อนรับปราศรัยด้วยจิตใจวาจาและเครื่องต้อนรับอย่างเดียวกัน ไม่มีการตั้งเก้าอี้ หรือลาดพรมปูเสื่อเพื่อท่านผู้นั้น ชั้นนั้นชั้นนี้ กุฏิหลวงพ่อจงเปิดอ้าไว้ต้อนรับทุกคนตลอดเวลา  หลายคนเคยปรารภว่า  มานมัสการหลวงพ่อจงแล้วน่าเลื่อมใสจริง ๆ  ท่านเป็นพระแท้ไม่มียศ ไม่มีเกียรติ ไม่ติดอามิสใด ๆ เลย แม้กระทั่งน้ำชา หลวงพ่อเป็นบรรพชิตที่เหมาะสมแก่คนทุกชั้น  ไม่มีคำว่า “ขนาดเราไปหาท่านแล้วเข้าไม่ถึง”  โดยเด็ดขาด  ทั้งนี้เพราะหลวงพ่อจงท่านทรงคุณธรรมอันสำคัญอยู่สามประการ คือ
    1.เมตตากรุณา  หลวงพ่อจงไม่เพียงแต่สอนให้ผู้อื่นมีเมตตากรุณาต่อกันเท่านั้น  แต่ตัวของหลวงพ่อเองก็มีเมตตากรุณาประจำใจด้วยอย่างสมบูรณ์  ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสกับทุกคน  ไม่เคยเห็นท่านแสดงท่าทางโกรธเคืองผู้ใด ไม่ว่าเวลาไหน  ใครมาหาท่านต้องการสิ่งใดท่านจะรีบทำให้ด้วยความเต็มใจและว่องไว  บางครั้งแขกมาหาเป็นเวลาที่ท่านจำวัดแล้ว  หลวงพ่อจงท่านยังรีบลุกจากที่จำวัดมาสงเคราะห์ให้จนสำเร็จประโยชน์
    2.  อธิวาสนขันติ หลวงพ่อจงท่านรับแขกตลอดเวลา  ทุกเมื่อเชื่อวัน อดทนต่อความเมื่อยล้า  ไม่เคยแสดงอาการเหน็ดเหนื่อยให้เห็นเลย
    3.  ปริจจาคะ  หลวงพ่อจงท่านบริจาคทุกอย่างไม่ว่าสิ่งใด ใครขออะไรแม้กระทั่งย่ามที่ท่านถืออยู่  ท่านยินดีมอบให้ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส คุณธรรมสามประการนี้  เป็นวิหารธรรมที่หลวงพ่อจงท่านสร้างสมอยู่ชั่วชีวิตท่าน

    เป็นพระทองคำ

    หลวงพ่อจง เป็นพระเถราจารย์ที่มีวิทยาคมแก่กล้า ได้รับการถ่ายทอดวิทยาคมจาก หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล และหลวงพ่อปั้น วัดพิกุล อยุธยา พระอาจารย์ทั้งสองท่านนี้  ก็เป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เช่นกัน หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก เป็นสหายธรรมสนิทสนมกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เป็นอันมาก  เนื่องจากมีพระอุปัชฌาย์องค์เดียวกัน  นัยว่าสองหลวงพ่อนี้เป็นศิษย์สำนักเดียวกัน  จึงมีความสนิทสนมและต่างฝ่ายต่างเคารพนับถือธรรมปฏิบัติของกันและกันมากเป็นพิเศษ

    หลวงพ่อปาน มีสังฆกิจอย่างไร  ต้องนิมนต์หลวงพ่อจงไปในพิธีเสมอ  หลวงพ่อจงมีสังฆกิจเช่นไรก็จะต้องนิมนต์หลวงพ่อปานไปร่วมพิธีทุกครั้ง  หลวงพ่อปาน ท่านมักพูดแก่ศิษย์ของท่านเองว่า  พระอย่างหลวงพ่อจงนั้น เป็นทองคำทั้งองค์  พระขนาดนี้อย่า ไปขออะไรท่านนะ   จะเป็นบาปหนัก  เพราะแม้เทพยดาชั้นสูง ๆ ยังต้องขอเป็นโยมอุปัฎฐากเลย ด้วยเหตุนี้  ลูกศิษย์ของหลวงพ่อปานจึงเคารพนับถือหลวงพ่อจงมาก  และท่านยังสั่งว่า  “ถ้าฉันไม่อยู่ติดขัดเรื่องธรรมะ ให้ไปถามท่านจงนะ  ท่านจงนี้น่ะ ท่านสอนเทวดามาแล้ว  ถ้าเธอไปเรียนกับท่านจงได้  ก็นับว่าเป็นบุญของเธอ”

    ปฏิบัติเป็นกิจ

    กิจวัตรประจำวันอันสำคัญที่หลวงพ่อจงนิยมปฏิบัติอยู่เสมอ คือ การทำวัตรสวดมนต์ทุกเช้า  เวลาใกล้รุ่งระหว่างเวลา 04.00 น. ถึง 05.00 น. และเวลาเย็นประมาณ 18.00 น. (ถ้าไม่มีแขกมาหา)  หลวงพ่อจะต้องทำวัตรสวดมนต์เป็นประจำไม่ขาด  เว้นแต่อาพาธหรือติดกิจนิมนต์ไม่ได้อยู่วัดเท่านั้น หลังจากสวดมนต์จบแล้ว  หลวงพ่อจะเจริญกรรมฐาน อันเป็นธุระเอกของท่านอย่างสงบนิ่ง ประมาณวันละ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมงเป็นอย่างช้า  ฉะนั้น ผู้ที่เคยมาหาหลวงพ่อและรู้เวลาของท่านแล้ว เขาจะไม่รบกวนท่าน  รอจนกว่าท่านจะทำกิจเสร็จเรียบร้อย  เพราะถ้าใครไปปรากฎตัวหรือด้อม ๆ มอง ๆ ให้ท่านเห็น  หลวงพ่อจะรีบกราบพระลุกจากที่มาทันที  ด้วยความที่ท่านมีเมตตาเป็นปุเรจาริก  ปรารถนาจะสงเคราะห์ผู้อื่นให้สำเร็จประโยชน์ที่เขาต้องการ

    เป็นผู้รักความสะอาด

    หลังเวลาทำวัตรเช้ามืดเสร็จแล้ว  และเวลาเย็นหลวงพ่อจะถือไม้กวาดฟั่นด้วยปอยาว ๆ เดินกวาดสถานที่ต่าง ๆ เช่น ถนนหนทาง กุฏิ ศาลา เป็นต้น ไม่ว่างเว้น  ท่านมีสุขนิสัยรักความสะอาดอย่างยากที่จะหาผู้ใดมาเปรียบได้ ท่านไม่รังเกียจว่า สถานที่ท่านกวาดนั้นเป็นกุฏิของผู้ใด  ถ้าหลวงพ่อพบฝุ่นละอองที่ไหน  ท่านจะปัดกวาดให้จนสะอาดเรียบร้อยไม่เคยว่ากล่าวผู้ใดทั้งสิ้น  ใบหน้าหลวงพ่อยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา ในระยะหลัง พระอุปัฏฐากและศิษย์รับใช้ เมื่อเห็นท่านปัดกวาด ต้องรีบมาทำแทนท่าน เพราะเห็นว่าท่านชราภาพมากแล้ว  ท่านหมั่นทำความสะอาดอยู่กระทั่งถึงวาระสุดท้าย  ลุกจากที่จำวัดไม่ได้ กิจกรรมเช่นนี้ เป็นที่ควรปฏิบัติตามสำหรับอนุชนเป็นอย่างยิ่ง  เพราะสิ่งเหล่านี้มีพระพุทธภาษิตรับรองอยู่ว่า อสชฺฌายมลา  อนุตา  อนุฏฐานมลา  ฆรามลํ  วณฺณสฺสโกสชฺชํ ปมาโท รกฺขโต  มลํ ซึ่งแปลว่า เวทมนต์ที่ไม่ท่องบ่นย่อมเสื่อมคลาย เรือนทั้งหลายที่ไม่ปัดกวาดย่อมเสื่อมโทรม  ความเกียจคร้านเป็นความเศร้าหมองของผิวพรรณ  ความประมาทเป็นมลทินของผู้รักษา

    ปฏิปทาน่าฉงน

    การปฏิบัติอันเป็นกิจวัตรของหลวงพ่อจง  บางอย่างก็แปลก ๆ เป็นปริศนาให้ผู้พบเห็นคิดอยู่นาน  เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อกบ วัดเขาสาริกา  อำเภอบ้านหมี่  จังหวัดลพบุรี  กล่าวคือ  พอตกกลางคืนท่านจะออกมาจากกุฏิ  โดยถือไม้กวาดแล้วกวาดลานวัดไปเรื่อย ๆ  กวาดจนรอบวัดแล้วยังกวาดใหม่อยู่อย่างนี้จนดึก

    หลังจากนั้นก็เดินขึ้นกุฏิไปเข้ามุ้ง  แต่ไม่ดับตะเกียง  ท่านจะนั่งสมาธิอยู่เป็นครู่ใหญ่  แล้วออกจากมุ้งมากวาดลานวัดอีก  เมื่อกวาดรอบวัดเสร็จก็จะกลับขึ้นไปเข้ามุ้งในกุฎิ  ทำสมาธิ  หลังจากนั้นก็จะออกมากวาดลานวัดเป็นคำรบสาม  เสร็จแล้วก็เข้ามุ้ง  นั่งสมาธิ เป็นครั้งสุดท้าย  จากนั้นจึงดับตะเกียงจำวัด  หลวงพ่อจงปฏิบัติธรรมของท่านเช่นนี้ตลอดมา ก่อนที่จะมรณภาพไม่นาน ลูกศิษย์ใกล้ชิดเก็บความสงสัยไว้ไม่อยู่  ได้ถามท่านว่า  ทำไมถึงชอบกวาดลานวัดตอนดึก ๆ ขณะพระลูกวัดจำวัดหมดแล้ว  ท่านตอบสั้น ๆ ว่า  “วัดสะอาด  ใจก็สะอาด  กวาดวัด แล้วกวาดใจ  ตายแล้วไม่ไปอบายภูมิ”

    มักน้อยสันโดษ

    หลวงพ่อจง ท่านเป็นพระที่มักน้อยสันโดษอย่างมาก  ใครมาหาท่าน ท่านก็ต้อนรับขับสู้ด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใสมีเมตตา  ใครจะนั่งอยู่ดึกดื่นค่อนคืนอย่างไร ท่านก็ยังคงต้อนรับอยู่อย่างนั้น  จนกระทั่งแขกเหรื่อหมดแล้ว ท่านจึงจะเข้ากุฏิ หลวงพ่อจง เป็นพระที่เสียสละอย่างสูง  เมตตาของท่านท่วมท้นทั้งในอาณาจักรและศาสนจักร  ในประการหลังนี้จะเห็นได้จากการที่ท่านรื้อกุฏิในวัดของท่านถวายแก่วัดที่ยากจน  ซึ่งท่านทำเช่นนี้เสมอมา  นี่คือเหตุผลที่ว่า  ทำไมวัดหน้าต่างนอกที่มีพระอาจารย์ชั้นเยี่ยมอย่างหลวงพ่อจงเป็นเจ้าอาวาส  จึงไม่ค่อยเจริญในด้านวัตถุมากนัก  ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า  พระสุปฏิปันโนเฉกเช่นหลวงพ่อจงนี้  ท่านมีแต่ขนออกแจกเขาอย่างเดียว  ไม่มีการนำเข้า มีแต่แจกออกไป  ใครถวายสิ่งใดแก่ท่าน ท่านก็นำออกมาถวายให้พระลูกวัดเป็นสังฆปัจจัยจนหมด

    ในด้านสมณศักดิ์นั้นท่านก็วางเฉย  มีลูกศิษย์ที่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาปรารภกับท่านบ่อย ๆ ทำนองใคร่สนับสนุน  แต่ท่านปฏิเสธไปอย่างสุภาพและนุ่มนวลอีกว่า  “อาตมาแก่แล้ว  สังขารไม่เอื้ออำนวย  มันจะเจ็บ มันจะแก่ มันจะตาย ไปบังคับมันไม่ได้ สังขารของอาตมาจึงไม่เหลือที่จะเป็นประโยชน์แก่กิจของสงฆ์อีกแล้ว”

    แม่แต่ตอนที่ท่านมรณภาพ  เงินสักเฟื้องสักสลึงก็ไม่มีติดย่าม  ย่ามของท่านนั้นเล่าก็เก่าคร่ำคร่า  ย่ามดี ๆ ท่านก็ให้แก่พระลูกวัดใช้จนหมดสิ้น  สมบัติของท่านที่เหลืออยู่ให้เราเห็นในทุกวันนี้  มีเพียงเก้าอี้โยกเก่า ๆ ตัวหนึ่ง  รูปปั้นฤาษี “พ่อแก่”  และพระพุทธรูปบูชาขนาดเล็กที่ท่านบูชาประจำองค์เดียวเท่านั้น

    สร้างเพื่อรื้อถอน

    กุฏิที่ท่านจำวัดก็เป็นไม้เก่า ๆ  ผุพังไปบางส่วน  เวลานี้เขาย้ายที่ไปสร้างใหม่  โดยรื้อมาประกอบทั้งหลัง  ไปดูที่วัดก็ยังได้ ถ้าใครไม่เชื่อ สมัยที่ท่านมีกิตติคุณเกรียงไกร  สามารถเอื้ออำนวยให้วัดมีสิ่งก่อสร้างถาวรวัตถุเป็นปูนเป็นอิฐ ขนาดใหญ่เท่าใดก็สามารถทำได้  แต่ท่านกลับมีอุบายอันแยบยลด้วยการรื้อถอนกุฏิบริจาคให้วัดอื่น  เพื่อสร้างนิสัยสั่งสมบุญกุศลแก่ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย

    ลูกศิษย์ที่เคารพนับถือท่าน เขามีเงินเป็นเศรษฐี  ได้มาสร้างเสนาสนะและสิ่งอื่น ๆ อยู่เป็นประจำ  แต่ท่านขอให้ลูกศิษย์ทุกคนก่อสร้างให้รื้อถอนได้  กล่าวคือ  สร้างสำหรับแบบรื้อได้นั่นเอง  ไม่มีใครทราบเหตุผลว่าทำไมท่านจึงสั่งเช่นนั้น  แต่บรรดาลูกศิษยก็ไม่อาจขัดท่าน  เพราะศรัทธาในตัวท่าน  สั่งเช่นไรก็ทำไปเช่นนั้นไม่มีบิดพลิ้ว

    เมื่อสร้างเสร็จและฉลองศรัทธาของญาติโยมโดยใช้อาศัยอยู่พักหนึ่ง หากมีวัดใดขัดสนท่านก็บอกให้ถอนไปตั้งที่วัดนั้นวัดนี้  เคยมีลูกศิษย์น้อยอกน้อยใจไปต่อว่าท่าน  ท่านก็ยิ้มแล้วบอกว่า  “เธอสร้างให้หลวงพ่อเป็นศรัทธาของเธอ  กุศลมีแก่เธอแล้วทุกประการ  พระสงฆ์และวัดเป็นเนื้อนาบุญ วัดไหนก็เหมือนกัน  ถ้าหลวงพ่อบอกให้เธอไปสร้างให้วัดอื่น  เธอคงไม่ยอมไป เพราะศรัทธายังไม่มี   เมื่อสร้างแล้วหลวงพ่อไปถวายวัดอื่น  บุญกุศลนั้นก็ยังเป็นของเธออย่างเต็มเปี่ยม  ขอเธอจงโมทนาเถิด”คำกล่าวของหลวงพ่อ  พระเถราจาย์ที่ยิ่งใหญ่แห่งกรุงศรีอยุธยาครั้งกระนั้น  ประดุจโอวาทที่ศิษย์รับใส่เกล้าทุกคน

    Read more
  • พระบูชา บูรพาจารย์ พระบูชาบูรพาจารย์-โชว์

    พระบูชา5นิ้ว หลวงพ่อปั้น วัดพิกุล

    ท่านเป็นพระสหายธรรมของหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ เป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค ซึ่งถือว่าเป็นบูรพาจารย์ของหลวงพ่ออีกท่านนึง

    *********************************************

    หลวงพ่อปั้นเป็นเป็นพระเถระยุคเก่าที่ได้รับการยกย่องในด้านพุทธคุณว่า “ ทรงคุณวุฒิด้านกฤติคุณ ในด้านความขลัง และมีความศักดิ์สิทธิ์ตลอดกาล ” เพชรเม็ดเอกแห่งพระคณาจารย์เมืองคนดีศรีอยุธยาที่ควรได้รับการยกย่องและสดุดี ในบารมีของหลวงพ่อปั้นแห่งวัดพิกุลโสคัณธ์ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก และอีกหลายพระคณาจารย์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเมืองอยุธยา ก็ยังเป็นศิษย์หลวงพ่อปั้น วัดพิกุลโสคัณธ์ ถ้าท่านไม่โด่งดังจริงก็คงจะไม่มีรูปหล่อของหลวงพ่อปั้นถึง 3 วัด ใน 3 จังหวัดและถ้าท่านได้ศึกษาประวัติของท่านตั้งแต่ต้นจนจบ ก็คงสรุปได้เช่นเดียวกันว่า “ หลวงพ่อปั้นควรได้รับการยกย่องเป็นพระเถระที่ทรงวิทยาคุณที่หายากยิ่ง”

    ชีวประวัติครั้งเยาว์วัย

    เมื่อครั้งท่านยังเป็นเด็ก เล่ากันว่า … เด็กชายปั้นมีนิสัยเมตตา ไม่เบียดเบียนสัตว์ ชอบประพฤติปฏิบัติทางที่เป็นกุศล คือให้ความช่วยเหลือบุคคลอื่นด้วยความเมตตา ไม่ชอบกินเนื้อสัตว์ ถ้าพ่อแม่จับปลาขังไว้กินก็เป็นอันว่า ต้องผิดหวัง คือจะเหลือแต่น้ำที่ปราศจากปลา เพราะเด็กชายปั้นจะนำปลาไปปล่อย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นที่โจษขานเลื่องลือไปทั่ว กระทั่งกล่าวขานกันว่า เด็กชายปั้นน่ากลัวจะมาเกิดเป็นชาติสุดท้าย จึงได้มีความเมตตา กรุณา และชอบธรรมมาตั้งแต่เป็นเด็กทั้งที่ไม่มีใคร สั่งสอน สมดังคำโบราณที่ว่า “หนามจะแหลมไม่ต้องมีใครเสี้ยมสอนมันก็แหลมของมันเอง” ครั้นพอโตขึ้น ก็ชอบเข้าวัดฟังธรรม และใฝ่ใจอยู่ตลอดเวลาที่จะบรรพชาอุปสมบท ฝ่ายบิดามารดาแม้ว่าจะฐานะไม่ดีนัก แต่ก็ตามใจบุตรจึงอนุญาตให้บรรพชาเป็นสามเณร ต่อมาเมื่ออายุครบ 20 ปี ก็จัดอุปสมบทให้ตามประเพณีที่วัดพิกุลโสคัณธ์ จังหวัดพระนครสรีอยุธยา

    ประมาณพรรษาที่ 3 พระปั้นได้ออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ยังความเป็นทุกข์ร้อนให้กับพ่อแม่ที่เป็นห่วง ครั้นใกล้ถึงพรรษาพระปั้นจึงเดินทางกลับวัดพิกุล ปรากฏว่าโยมบิดามารดารู้สึกดีใจเป็นยิ่งนัก พระปั้นเป็นพระที่เคร่งในพระธรรมวินัย ลงอุโบสถสวดมนต์ไม่ขาดและแทบทุกปีจะต้องธุดงค์วัตรไปตามสถานที่ต่างๆ สุดแท้แต่ท่านปรารถนาจะไป

    ประมาณพรรษาที่ 5 ได้มีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้น คือโยมบิดาพาพระปั้นไปวัดหน้าต่างนอก เมื่อถึงวัดหน้าต่างนอก หลวงปู่เฒ่าพระชราจึงถามโยมบิดาพระปั้นว่า มีธุระอะไรหรือโยมบิดาพระปั้นจึงบอกวัตถุประสงค์ว่า “อยากให้หลวงปู่เฒ่ารดน้ำมนต์ให้พระปั้นสักหน่อย เพราะดูแล้วพระปั้นจะผิดปกติ” พระปั้นท่านก็ไม่พูดอะไร หลวงปู่เฒ่าท่านเพ่งพินิจดูพระปั้นแล้วกล่าวทำนองว่า

    “ไม่เห็นมีอะไรผิดปกติ มาเสียเวลาเปล่า” แต่โยมบิดาพระปั้นก็พยายามอ้อนวอน ในที่สุดหลวงปู่เฒ่าทนอ้อนวอนไม่ไหวก็บอกว่า “เอ้า ! จะรดน้ำมนต์ก็จะทำให้” พอเสร็จพิธีแล้ว หลวงปู่เฒ่าก็กล่าวทำนองว่า “ไม่รู้ว่าผู้ถูกรดน้ำมนต์หรือผู้รดน้ำมนต์ จะสติไม่ดีแน่” แล้วชมพระปั้นว่า “เป็นพระมีวิชา และมีความกตัญญูดี”

    หลวงพ่อปั้นผจญภัยในป่าใหญ่

    ดังที่กล่าวมาแล้วว่า พระปั้นท่านยึดธุดงค์วัตรทุกปี ดังนั้นเมื่อท่านมีพรรษามาก กิตติศัพท์ชื่อเสียงของหลวงพ่อจึงขจรขยายไปทั่ว ได้มีพระมาฝากตัวเป็นศิษย์ ขอร่วมธุดงค์ไปกับท่านทุกปี ครั้งหนึ่ง พระปั้นพาพระธุดงค์ไปทางเหนือ แล้วจึงปักกลดท่ามกลางป่าดงพงไพร ก่อนค่ำนั้นได้มีชาวบ้านถือดอกไม้มานมัสการคณะพระธุดงค์ แล้วขอนิมนต์คณะพระธุดงค์ไปปักกลดใกล้หมู่บ้าน โดยบอกว่า “ละแวกนั้นมีเสือดุร้ายมาชุมนุมและหาอาหาร อาจเป็นภัยอันตรายเหมือนพระธุดงค์บางองค์ซึ่งเคยเสียชีวิตไปแล้ว ” หลวงพ่อปั้นท่านก็ซักถามเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น แล้วกล่าวว่า “ พระธุดงค์เมื่อปักกลดแล้วจะถอนกลดนั้นไม่ได้ ” จากนั้นท่านก็เทศน์โปรดโยมที่มาบอกข่าว พร้อมกับบอกโยมทั้งหลายที่มาว่า

    “ ธรรมดาของชีวิต เมื่อเกิดก็ต้องมีตาย ไม่มีใครลุล่วงความไม่ตายไปได้ การที่ท่านทั้งหลายแนะนำและปรารถนาดีก็เป็นบุญกุศลแล้ว ท่านทั้งหลายจงสบายใจได้ว่า หลวงพ่อและคณะพระธุดงค์ไม่ได้เบียดเบียนใคร สัตว์อยู่อย่างสัตว์ เราต่างคนต่างอยู่ก็คงไม่มีภัยอันตรายแต่ประการใด และขอท่านที่มาไม่ต้องเป็นห่วงเพราะท่านอุทิศร่างกายเพื่อศาสนา อำนาจคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์คุ้มภัยได้แน่ ”

    เมื่อชาวบ้านกลับไปหมดแล้ว หลวงพ่อปั้นก็บอกพระธุดงค์ทุกองค์ว่า “ไม่ต้องหวาดกลัวภัยอันตรายใดๆ ถ้าหวาดกลัวภัยขอให้มีสมาธิ จิตภาวนา พุทโธ ธัมโม สังโฆ” จากนั้นท่านก็เข้ากลดทำวัตรสวดมนต์แผ่เมตตา แล้วเข้าฌาณสมาธิเหมือนเหตุการณ์ปกติ ครั้นเวลาประมาณ 5 ทุ่มเศษ ได้ยินเสียงเจ้าพยัคฆ์ร้ายส่งเสียงคำรามมาแต่ไกล ท่านก็นั่งนิ่งแผ่เมตตา ด้วยพลังจิตอันบริสุทธิ์ เจ้าพยัคฆ์ร้ายตัวนั้นมันยังคำรามและเข้ามาป้วนเปี้ยนใกล้ๆกลดพระธุดงค์ แต่พอใกล้กลดหลวงพ่อปั้นมันหยุดคำราม หมอบสงบนิ่งเหมือนผู้มาฝากตัวเป็นศิษย์ พอใกล้สว่างเสือร้ายก็จากไปบรรดา ชาวบ้านรีบมาดูพระธุดงค์แต่เช้าว่ายังอยู่ครบหรือเปล่า เมื่อเห็นว่าอยู่ครบก็พากันกลับไปนำอาหารมาถวายพระ แล้วสอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลวงพ่อปั้นท่านก็เล่าให้ฟัง ชาวบ้านและแวกนั้นก็รู้สึกศรัทธาคณะพระธุดงค์เป็นอย่างมาก ครั้นรู้ว่าหลวงพ่อปั้นจะพาพระธุดงค์ออกเดินทางต่อก็รู้สึกเสียดายเป็นยิ่งนัก

    สำหรับเหตุการณ์พิเศษที่ควรจะได้กล่าวไว้ก็คือ

    1.ครั้งหนึ่งหลวงพ่อปั้นออกบิณฑบาตรกลางป่า ในขณะที่พระธุดงค์องค์อื่นบิณฑบาตรไม่ได้ข้าวและกลับข้าวเลย เพราะอยู่กลางป่าและไกลจากหมู่บ้านมากจึงกลับที่ปักกลด สำหรับหลวงพ่อปั้นนั้น ท่านบิณฑบาตรได้ข้าวและอาหารมาเต็มบาตรพอที่จะแบ่งให้ พระธุดงค์ได้ฉันประทังชีวิตไปได้ และนอกจากนั้นยังกลับถึงที่ปักกลดก่อนพระธุดงค์องค์อื่นอีกด้วย เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นโจษขานเล่าลือกันว่า หลวงพ่อปั้นสำเร็จและบรรลุธรรมชั้นสูงแล้วจึงได้ มีเทวดา นางฟ้า เจ้าป่าเจ้าเขามาตักบาตร หรือไม่ก็ช่วยย่นระยะทางที่ไปบิณฑบาตรเป็นแน่ ซึ่งเป็นที่สงสัย ของพระธุดงค์ด้วยกัน แต่ก็ไม่มีใครกล้าเรียนถาม

    2. หลวงพ่อปั้นสร้างวัดเนินกุ่ม เพราะกตัญญูต่อพุทธศาสนา ครั้งหนึ่งเมื่อหลวงพ่อปั้นธุดงค์มาองค์เดียว ปักกลดในป่าแห่งหนึ่งมีชื่อว่า ป่าดงหมี (เข้าใจว่าคงจะไม่ไกลจากหมู่บ้านเนินกุ่มมากนัก) รอบๆที่ปักกลดของหลวงพ่อเต็มไปด้วยป่าดู วังเวง ตกดึกคืนนั้นไม่รู้ว่าเหตุอันใดไฟป่าได้ลุกลามเข้ามารอบด้าน เป็นผลทำให้ละแวกที่หลวงพ่อปักกลดอยู่ในเขตอันตราย ไฟเข้ามารอบทิศของกลด หลวงพ่อปั้นพระธุดงค์ผู้เรืองวิชากำลังจะหมดหวัง เพราะไม่ได้เรียนวิชาเรียกฝนดับไฟหลวง พ่อปั้นท่านเล่าให้ชาวบ้านในละแวกนั้นฟังว่า ท่านเองก็คิดว่าครั้งนี้คงจะต้องมรณภาพที่ป่าดงหมีเป็นแน่แล้ว ท่านก็สงบจิต นั่งสมาธิ และแล้วเมื่อจิตเข้าสมาธิท่านได้ยินเสียงลอยมาว่า “สุกโกปัญจะ” ท่านภาวนาเช่นนั้น ต่อมาท่านเห็นคาถาลอยมาว่า “พระโส นามะยักโข เมตะทันตะ ปะริวาสะโก อสุณีทะเต ชะยะมัง คะลานิ สุกโกปัญจะ อากาเสจะ พุทธิมังกะโร นะโม พุทธายะ” ท่านจึงกำหนดจิตว่าตามพระคาถาเหล่านั้นจนจบ 3 ครั้ง ปรากฏการณ์มหัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น ไฟป่ารอบๆกลดดับหมด เมื่อท่านรอดชีวิตจากไฟป่าครั้งนั้น ต่อมาได้พบชาวบ้านเนินกุ่ม ครั้นสอบถามจึงรู้ว่าบ้านเนินกุ่มเป็นหมู่บ้านที่ใกล้จากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่ามากที่สุด ฝ่ายชาวบ้านเนินกุ่มเมื่อพบหลวงพ่อก็เกิดศรัทธา จึงนิมนต์หลวงพ่อไปปักกลดละแวกหมู่บ้าน ซึ่งมีจำนวนไม่กี่หลังคาเรือน หลวงพ่อปั้นท่านรับนิมนต์ ต่อมาท่านได้สร้างวัดเนินกุ่มในปัจจุบันนี้นั้นเอง ตั้งอยู่ที่ตำบลเนินกุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ชาวบ้านเนินกุ่มเคารพศรัทธาหลวงพ่อมาก เพราะประจักษ์ในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อ ดังเรื่องที่เล่าพอสังเขป ดังนี้

    1. หลวงพ่อปั้นบังตาได้

    ครั้งหนึ่งในอดีต เมื่อประมาณ 70 ปีมาแล้ว ปีนั้นเกิดอุทกภัย น้ำท่วมไร่นาเสียหายเป็นจำนวนมาก น้ำป่าท่วมมีสีแดง ชาวบ้านเนินกุ่มเรียกปีนั้นว่าปีน้ำแดง บรรดาสัตว์ป่าจะละทิ้งป่าไปอยู่ตามที่ดอนเพื่อเอาชีวิตรอด อาชีพใหม่ของชาวบ้านคือล่าเนื้อสัตว์เป็นอาหารและขายแทบจะทุกวัน หลวงพ่อปั้นท่านมีความเมตตาจึงพาพระลูกวัดขึ้นไปทางเหนือบ้านเนินกุ่ม แล้วท่านก็หยุดกลางทุ่งนา หันหน้าไปทางทิศตะวันออกยืนยกมือ ซึ่งทิศที่หลวงพ่อหันไปนั้นมีบรรดาสัตว์ต่างๆ ไปหลบภัยเป็นจำนวนมากเมื่อหลวงพ่อทำพิธีเสร็จกลับวัดเนินกุ่ม

    ฝ่ายชาวบ้านที่นิยมลาสัตว์เป็นอาหาร ไม่ได้ฉงนใจ จึงออกล่าสัตว์ตามปกติก็ไม่พบสัตว์ จึงนึกแปลกประหลาดใจว่า สัตว์จำนวนมากไม่รู้หายไหนหมด จึงต้องเลิกล่าสัตว์ทิศนั้นเปลี่ยนทิศไป ทางอื่นจึงได้สัตว์ ฝ่ายหลวงพ่อปั้นท่านรู้เหตุ ท่านจึงออกช่วยสัตว์ในลักษณะเดิม ชาวบ้านจึงรู้ว่าหลวงพ่อปั้น ท่านศักดิ์สิทธิ์บังตาได้ จึงโจษขานเลื่องลือไปทั่วถึงความเมตตาของหลวงพ่อ

    2. หลวงพ่อปั้นมีวาจาศักดิ์สิทธิ์

    เมื่อครั้งหลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ ปรากฏว่าชาวบ้านเนินกุ่ม เคารพศรัทธาหลวงพ่อมาก ถ้าหลวงพ่อจะก่อสร้างปูชนียสถานวัตถุสิ่งใดก็จะสำเร็จลุล่วงด้วยดี ดังนั้นวัดเนินกุ่มจึงมีถาวรวัตถุหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น อุโบสถหลังแรกของวัดเนินกุ่ม เมื่อสร้างเสร็จแล้วทางวัดได้จัดงานฉลองพระอุโบสถ พร้อมกับมีการจัดอาหารเลี้ยงผู้มาช่วยงานและผู้มาเที่ยวงาน โดยมีป้าผันเป็นแม่ครัว หลวงพ่อปั้นท่านเป็นห่วงกลัวว่าอาหารจะไม่พอเลี้ยงผู้คน จึงมาสอบถามแม่ครัว ครั้นท่านเห็นว่าถ้วยชามจำนวนมากค่อยๆ ล้างทีละใบมันช้าจะไม่ทันการ ท่านจึงบอกป้าผัน และคนล้างชามว่าให้ใส่ตะกร้าละหลาย ๆ ใบ เขย่าในคลองจะได้เร็วขึ้น ป้าผันพูดว่า “ ถ้าทำตามหลวงพ่อว่า ถ้วยชามคงจะแตกหมด ” หลวงพ่อตอบว่า “ฉันรับรองไม่แตกจ้ะ ทำไปเถอะ” ป้าผันและคนล้างชามไม่อยากจะเชื่อ จึงลองไปทำดู ปรากฏว่าล้างชามได้รวดเร็วทันใจและไม่มีชามแตกแม้แต่ใบเดียว ดังนั้นจึงเชื่อว่าท่านมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ แทบทุกปีที่งานวัดเนินกุ่มมักมีเหตุการณ์ไม่สู้ดีเกิดขึ้น ดังเช่น นายโต นักเลงชื่อดังละแวกบ้านเนินกุ่มมักจะก่อเหตุรบกวนคนอื่น คืนหนึ่งมีคนมาบอกหลวงพ่อปั้นว่า นายโตมาดูลิเกที่วัด กลัวว่าจะมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้น เพราะนายโตชอบออกลวดลายทางนักเลง หลวงพ่อท่านก็พูดว่า “เขาอยู่ตรงหน้าโรงลิเกไม่เกะกะใครแน่ ” ครั้นลิเกเลิกแล้ว นายโตก็นั่งอยู่ตรงนั้นไม่ยอมกลับบ้าน ทำให้ผิดสังเกต ลูกศิษย์ของหลวงพ่อ คนที่มาบอกครั้งแรกซึ่งเฝ้าสังเกตนายโตอยู่เห็นผิดปกติที่ลิเกเลิกตั้งนาน นายโตยังนั่งอยู่ทำไม จึงไปบอกหลวงพ่อ ท่านก็พูดว่า “เดี๋ยวนายโตก็กลับแล้ว” พอหลวงพ่อพูดจบนายโตก็ลุกจากหน้าโรงลิเกกลับบ้านโดยเหตุการณ์ปกติ

    อีกเรื่องคือ ผู้สร้างรูปหล่อหลวงพ่อปั้น คือ เจ๊กพงษ์ นางเขียว เพ็งผล สองสามีภรรยา ซึ่งแต่เดิมไม่ร่ำรวยอะไรมีอาชีพเลี้ยงหมูแล้วฆ่าขาย ต่อมาได้นำอาหารมาถวายหลวงพ่อปั้น หลวงพ่อมีความเมตตาจึงกล่าวว่า อยากรวยไหม สองสามีภรรยาจึงบอกว่า อยากรวย หลวงพ่อจึงบอกว่า “จะถือเป็นคำสัตย์ได้ไหมว่า ถ้าแนะนำแล้วจะต้องปฏิบัติตาม หากผิดสัญญาจะต้องมีอันเป็นไป ” สองสามีภรรยาตอบรับคำหลวงพ่อว่าจะทำตามทุกอย่าง จากนั้นหลวงพ่อจึงบอกว่า “ ถ้าเลิกเลี้ยงหมู แล้วทำมาค้าขายอะไรก็จะรวย แต่รวยแล้วอย่าโกงใคร ถ้าโกงหรือทำให้ใครได้รับทุกข์จะต้องมีอันเป็นไป อาทิ ตายไม่ดี ” ซึ่งต่อมาสองสามีภรรยาไม่ปฏิบัติตามสัจจะวาจาที่ให้ไว้กับหลวงพ่อ ภัยพิบัติจึงมาถึงในบั้นปลาย เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อบุตรสาวสองสามีภรรยาคู่นี้โตขึ้นพอจะมีคู่ครอง ปรากฏว่ามีหนุ่มที่มีฐานะดีมาชอบ แต่บุตรสาวไม่ชอบกลับไปชอบพระองค์หนึ่ง ชื่อ เปรื่อง ฐานะยากจน ครั้นพระเปรื่องลาสิกขาแล้ว พ่อแม่ฝ่ายหญิงกลัวว่าบุตรสาวจะได้กับทิดเปรื่องไม่สมกับฐานะ จึงวางแผนกำจัดคู่รักของบุตรสาว คือ ทิดเปรื่อง โดยตั้งข้อหาว่าทิดเปรื่องฆ่าคนในหมู่บ้าน ผลสุดท้ายทิดเปรื่องผู้บริสุทธิ์ต้องเข้าคุก ติดคุกอยู่นานถึง 11 ปีก่อนที่จะตาย นับว่าสามีภรรยาคู่นี้กระทำผิด ฆ่าคนตายโดยไม่นึกถึงคำสัจจะที่ให้ไว้กับหลวงพ่อปั้น ดังนั้นภัยร้ายได้มาถึง คือ สามีเป็นบ้าได้ลุยน้ำตายไปก่อนที่ฝ่ายภรรยาจะถูกลูกสาวยิงตายเพราะลูกสาวนั้นโรคประสาทกำเริบและตายอย่างน่าสมเพช

    3. หลวงพ่อปั้นมีจริยวัตรคล้ายกับสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี วัดระฆัง

    เช่น ชอบอนุเคราะห์ช่วยเหลือคนยากจนช่วยเหลือผู้ที่มีภัย และท่านได้สร้างปูชนียวัตถุตามสถานที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับท่าน เช่น การบูรณะวัดเนินกุ่ม การสร้างพระประธานด้วยปูนปั้น การสร้างพระนอนที่วัดพิกุล ฯลฯ ถึงคราวหน้าออกพรรษา ชาวเนินกุ่มจะหาเรือแจว ขนาดลำใหญ่พายหน้า5 พายหลัง3 ไปรับหลวงพ่อ โดยมีตาแจ่มกับตาโต๊ะศิษย์ผู้ใกล้ชิดเป็นผู้พายเรือไปรับหลวงพ่อที่วัดพิกุล ปีนั้นหลวงพ่อท่านอาพาธ แต่ท่านก็รับนิมนต์เดินทางมาวัดเนินกุ่ม ครั้นเลยวัดน้ำทางผ่าน พระตีกลองเพล ปรากฏว่า หลวงพ่อท่านจำวัด ตาแจ่มกับตาโต๊ะลืมปลุก อีกครู่หนึ่งท่านก็ตื่นจึงถามว่า “ เพลหรือยัง ” ตาแจ่มกับตาโต๊ะตอบว่า “ เพลไปแล้วขอรับหลวงพ่อ” ท่านมองดูพระอาทิตย์แล้วกล่าวว่า “เพลที่ใดพายเรือกลับไปที่จุดจุดเพลนั้น” เมื่อถึงจุดเพลนั้นแล้ว ตาแจ่มกับตาโต๊ะจึงถวายอาหารเพล ท่านฉันอาหารนิดหน่อยก็ให้พรในลักษณะเรื่องที่เล่าก็คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ครั้งหนึ่งของสมเด็จพุฒาจารย์ ( โต ) พรหมรังสีวัดระฆัง

    4. หลวงพ่อปั้นท่านรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า

    ครั้งหนึ่งในสมัยของหลวงพ่อ ในปีนั้นเล่ากันว่าหลวงพ่อปั้นได้มาจำพรรษาที่ วัดเนินกุ่ม ในพรรษานั้นได้จัดงานพิเศษ และเป็นธรรมดาที่จะต้องมีผู้คนมาเที่ยวงาน เป็นจำนวนมาก ก่อนจะพลบค่ำ ท่านเรียกลูกศิษย์ของท่านมาประชุมเพื่อช่วยดูแลงานวัด พร้อมกันนั้นท่านก็สอนให้ศิษย์ของท่านอยู่ในความสงบ ไม่ต้องสู้รบปรบมือกับใคร ก็ปล่อยไม่ต้องทำการโต้ตอบ ท่านได้นำปูนแดงที่ปลุกเสกแล้วมากรานคอให้ศิษย์ของท่านทุกคน แล้วกำชับว่าไม่ต้องกลัวภัยใดๆ ใครจะทำอะไรก็ปล่อยเขา จากคำที่ท่านกล่าวไว้กับศิษย์ ปรากฏว่าพวกโจรเขมร (ชาวบ้าน เรียกว่าโจรขมุ) ได้มาเที่ยวงานไนวัด และเกิดมีการทะเลาะวิวาทกับลูกศิษย์ของหลวงพ่อ พวกโจรชักปืนออกมายิงใส่ศิษย์ของหลวงพ่อ ปรากฏว่า มีแต่เสียงดัง “ แชะ แชะ” ทำให้พวกโจรตกใจกลัว จึงสั่งหมุนหนีเร็ว

    การที่ท่านอบรมและนำปูนแดงปลุกเสกมากรานคอให้กับศิษย์ ก็เพราะว่าท่านรู้ว่าคืนนี้ต้องมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแน่ และท่านไม่อยากให้ศิษย์ของท่านบาปกรรม จึงขอศิษย์ไม่ให้ใช้กำลัง เว้นแต่ จะป้องกันตัวเมื่อภัยมาถึงตัวในระยะใกล้ ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้บรรดาศิษย์ของหลวงพ่อ และชาวบ้านเนินกุ่มต่างประจักษ์ในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อปั้นกันถ้วนหน้า

    5. รูปหล่อหลวงพ่อปั้นวัดเนินกุ่มศักดิ์สิทธิ์

    มีเรื่องเล่ากันว่า รถขายยามาจอดขายยาโดยไม่บอกกล่าวกับหลวงพ่อในวัด ปรากฏว่าไฟฟ้าขัดข้องแก้อย่างไรก็ไม่ติด คนที่มารอดูหนังเก้อ เพราะช่างแก้ไฟฟ้าหมดปัญญา ต่อมามีศิษย์หลวงพ่อปั้นมาถามว่า มาตั้งโรงฉายหนังบอกกับหลวงพ่อปั้นท่านหรือยัง? จากนั้นจึงไปนมัสการรูปหล่อหลวงพ่อปั้นพร้อมขออนุญาตท่าน ปรากฎว่าไฟฟ้าที่ขัดข้องก็สามารถแก้ไขได้โดยง่าย แทบไม่น่าเชื่อ คุณลุงนวล ชาวบ้านเนินกุ่มเล่าว่า เคยป่วยเป็นโรคท้องร่วงอย่างแรงเกือบหมดสติ ถึงกับคิดว่าครั้งนี้ต้องตายแน่ พอเคลิ้มหลับได้เกิดมีนิมิตถึงหลวงพ่อให้เอาน้ำมนต์มากินจึงจะหายป่วย นอกจากทั้งสองเรื่องนี้แล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกจำนวนมากที่แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของรูปหล่อของหลวงพ่อปั้น เช่น ชาวเนินกุ่มมาขอให้ท่านช่วยเหลือสิ่งใดในสิ่งที่ไม่ผิดกฏหมายก็มักสัมฤทธิ์ผล ดังนั้น เรื่องหนัง ลิเก จึงมีผู้นำมาถวายแก้บนกันอยู่เป็นประจำ

    Read more
  • พระบูชา บูรพาจารย์ พระบูชาบูรพาจารย์-โชว์

    พระบูชา5นิ้ว หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ ดินไทย

    หลวงพ่อสด’ วัดปากน้ำภาษีเจริญ

                    พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เดิมมีชื่อว่า “สด มีแก้วน้อย” เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๒๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่บ้านสองพี่น้อง ต.สองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ก่อนอุปสมบทได้เรียนหนังสือเมื่อเยาว์วัยกับพระภิกษุซึ่งเป็นน้าชาย ณ วัดสองพี่น้อง ต่อมาได้ศึกษาอักษรสมัยที่วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม

    เมื่ออายุ ๑๔ ปี โยมบิดาถึงแก่กรรม ท่านดำเนินการค้าสืบต่อจากบิดา จนถึงอายุ ๒๒ ปี และปี ๒๔๔๙  ได้อุปสมบท ณ วัดสองพี่น้อง โดยมีพระอาจารย์ดี วัดประตูศาล เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อเหนี่ยง อินฺทโชโต เป็นพระกรรมวาจารย์, พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “จนฺทสโร”

    อุปสมบทแล้วจำพรรษาอยู่วัดสองพี่น้อง ๑ พรรษา เรียนกรรมฐานกับหลวงพ่อโหน่ง และหลวงพ่อเนียม ในระยะเวลาสั้นๆ ปวารณาพรรษา แล้วเดินทางมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ เพื่อเล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อไป สมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม) กับ สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน)

    สรุปแล้วท่านเคยศึกษาสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานในสำนึกต่างๆ ดังนี้

    ๑. พระอาจารย์โหน่ง วัดสองพี่น้อง ๒. หลวงพ่อเนียม วัดน้อย  ๓. พระมงคลทิพยมุนี (มุ้ย) วัดสามปลื้ม  ๔. พระอาจารย์ดี วัดประตูศาล ๕. พระสังวรานุวงษ์ (เอี่ยม) วัดราชสิทธาราม ๖. พระครูญาณวิรัต (โป๊) วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม ๗. พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ ๘. พระอาจารย์ปลื้ม วัดเขาใหญ่

    การศึกษาของหลวงพ่อสด จากอาจารย์ตามข้างต้นนี้ อยู่ในระยะเวลาประมาณ ๑๐ ปี จากปีที่ท่านอุปสมบทในปี ๒๔๔๙-๒๔๕๙

    เมื่อสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ องค์ต่อจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม) ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ จ.ธนบุรี ท่านมีความประสงค์ที่จะให้หลวงพ่อสดมีวัดอยู่เป็นหลักเป็นฐาน จึงหวังเอาตำแหน่งเจ้าอาวาสผูกหลวงพ่อไว้กับวัดปากน้ำ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงวัดหนึ่ง เพื่อไม่ให้เร่ร่อนโดยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
    อีกต่อไป

    ปี ๒๔๕๙ หลวงพ่อสดจึงรับบัญชาออกจากวัดพระเชตุพน ไปเป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในปี ๒๔๖๓

    เมื่อแรกที่ท่านมาปกครองวัดปากน้ำ วัดมีสภาพกึ่งร้าง ท่านได้เริ่มสร้างความเจริญให้วัด โดยกวดขันพระภิกษุสามเณรให้ปฏิบัติธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด สอนสมถวิปัสนากัมมัฏฐาน ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ตั้งสำนักเรียนทั้งนักธรรมและบาลี สร้างโรงเรียนปริยัติธรรมที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น  จนวัดปากน้ำมีความเจริญขึ้นมาโดยลำดับ กลายเป็นศูนย์กลางปฏิบัติธรรมและการศึกษาบาลี ปฏิบัติสมถ-วิปัสสนากรรมฐาน

    สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) รักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ (พ.ศ.๒๕๐๒ -๒๕๐๘) ได้เขียนไว้ว่า

    “หลวงพ่อวัดปากน้ำใช้คำว่า “ธรรมกาย” เป็นสัญลักษณ์ของสำนักกัมมัฏฐาน วัดปากน้ำ ทีเดียว เอาคำว่า “ธรรมกาย” ขึ้นเชิดชู ศิษยานุศิษย์รับเอาไปเผยแพร่ทุกทิศ”

    อีกตอนหนึ่งท่านเขียนเล่าว่า

    “คำว่า “ธรรมกาย” นั้นย่อมซาบซึ้งกันแจ่มแจ้ง เมื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำได้มรณภาพแล้ว กล่าวคือ เมื่อทำบุญ ๕๐ วัน  สรีระสังขารของพระคุณท่าน คณะเจ้าภาพได้อาราธนาเจ้าคุณพระธรรมทัศนาธร วัดชนะสงคราม มาแสดงธรรม

    เจ้าคุณพระธรรมทัศนาธร ได้ชี้แจงว่า คำว่า “ธรรมกาย” นั้นมีมาในพระสุตันตปิฎก ท่านอ้างบาลีว่า ตถาคต ๘๘ วาเสฏฐ เอตํ ธมฺมกาโยติ วจนํ  ซึ่งพอจะแปลความได้ว่า “ธรรมกายนี้เป็นชื่อของตถาคต  ดูกรวาเสฏฐะ” ทำให้ผู้ฟังเทศน์เวลานั้นหลายร้อยคนชื่นอกชื่นใจเป็นอย่างยิ่ง ทุกคนกราบสาธุการแด่เจ้าคุณพระธรรมทัศนาธร และประหลาดใจว่า ทำไมเจ้าคุณพระธรรมทัศนาธรจึงทราบประวัติ และการปฏิบัติของหลวงพ่อวัดปากน้ำได้ถูกต้อง

    ผู้เขียน (สมเด็จพระสังฆราชปุ่น) เรื่องนี้ก็แปลกใจมาก  เมื่อแสดงธรรมจบลงจากธรรมาสน์แล้วจึงถามผู้แสดงธรรมว่า คุ้นเคยกับหลวงพ่อวัดปากน้ำหรือ จึงแสดงธรรมได้ถูกต้องตามเป็นจริง

    พระธรรมทัศนาธร ตอบว่า “อ้าว ไม่รู้หรือ ผมติดต่อกับท่านมานานแล้ว หลวงพ่อวัดปากน้ำข้ามฟากไปฝั่งพระนครแทบทุกคราวไปหาผมที่วัดชนะสงคราม และผมก็หมั่นข้ามมาสนทนากับเจ้าคุณวัดปากน้ำ การที่หมั่นมานั้นเพราะได้ยินเกียรติคุณว่า มีพระเณรมาก แม้ตั้ง ๔-๕๐๐ รูป ก็ไม่ต้องบิณฑบาตฉัน วัดรับเลี้ยงหมด อยากจะทราบว่า ท่านมีวิธีการอย่างไรจึงสามารถถึงเพียงนี้และ ก็เลยถูกอัธยาศัยกับท่านตลอดมา”

    สมณศักดิ์

    พ.ศ.๒๔๖๔ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูสมณธรรมทาน”…พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระภาวนาโกศลเถร”….พ.ศ.๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานพัดยศ

    ชั้นเปรียญ…พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ “พระมงคลราชมุนี”…พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ “พระมงคลเทพมุนี”

    อาพาธและมรณภาพ  พระมงคลเทพมุนี หรือหลวงพ่อสด เริ่มอาพาธด้วยโรคความดันโลหิตสูง ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๙๘ มีอาการขึ้นๆ ลงๆ พล.ร.จ.เรียง วิภัตติภูมิประเทศ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลทหารเรือ เป็นแพทย์ประจำตัวดูแลรักษา

    หลังจากได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระมงคลเทพมุนี” เมื่อปี ๒๕๐๐ อาการของโรคเพิ่มมากขึ้น แต่กำลังใจของท่านนั้นเข้มแข็ง ไม่แสดงอาการรันทดใจใดๆ การต้อนรับแขกด้วยอาการยิ้มแย้มเสมอ

    หลวงพ่อสด อาพาธได้ประมาณ ๒ ปีเศษ จึงถึงแก่กาลมรณภาพด้วยอาการอันสงบ ณ ตึกมงคลจันสร เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ เวลา ๑๕.๐๕ น. สิริอายุได้ ๗๕ ปี พรรษา ๕๓

    Read more
  • พระบูชา บูรพาจารย์ พระบูชาบูรพาจารย์-โชว์

    พระบูชา5นิ้ว หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน (วัดอัมพวัน)

    ท่านเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อเนียม วัดน้อย เป็นพระสหธรรมมิกของหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค และเป็นหนึ่งในพระอาจารย์ของหลวงพ่อ

    ****************************************************

    หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน (วัดอัมพวัน) อดีตพระเกจิดังแห่งเมืองสุพรรณบุรี

    หลวงพ่อโหน่ง อินทฺสุวณฺโณ เป็นชาวสุพรรณบุรีโดยกำเนิด เกิดที่บ้านสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง เมื่อปีพ.ศ.2408 ในตระกูลโตงาม ศึกษาร่ำเรียนที่วัดสองพี่น้อง จนอ่านออกเขียนได้ทั้งอักขระไทยและขอม จากนั้นช่วยบิดามารดาประกอบสัมมาอาชีพอย่างขยัน ขันแข็ง ประพฤติดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มักน้อย และรักสันโดษ จนอายุได้ 24 ปี ในปีพ.ศ.2433 ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง มีพระอธิการจันทร์ เจ้าอาวาสวัดทุ่งคอก เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ดิษฐ์ เป็นพระกรรม วาจาจารย์ และพระอธิการสุต เป็นพระ อนุสาวนาจารย์ โดยตั้งใจจะบวช 1พรรษา

    ในสมณเพศ มีความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ ใฝ่ใจศึกษาพระธรรมวินัย คันถธุระ และวิปัสสนาธุระจนรู้ซึ้ง เมื่อครบกำหนดตัดสินใจไม่ลาสิกขา จากนั้นออกเดินทางไปยังวัดทุ่งคอก เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ พระอธิการจันทร์ พระอุปัชฌาย์ ผู้มีชื่อเสียงและกิตติศัพท์ด้านวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาอาคมแขนงต่างๆ

    ศึกษาอยู่ 2 พรรษา จึงลาเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า อีก 2 พรรษา แล้วจึงกลับมาจำพรรษาที่วัดสองพี่น้องตามเดิม

    ในช่วงศึกษาที่วัดน้อยนั้น ท่านได้รู้จักกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรี อยุธยา ซึ่งได้เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเนียมเช่นกัน โดยท่านนับเป็นศิษย์รุ่นพี่ หลวงพ่อเนียมยังได้เคยปรารภกับหลวงพ่อปานว่า “ถ้าข้าตายแล้ว สงสัยธรรมข้อใดให้ไปถามท่านโหน่งเขานะ เขาพอแทนข้าได้”

    เมื่อกลับมาจำพรรษาที่วัดสองพี่น้อง หลวงพ่อโหน่งยังมีความเกี่ยวพันกับพระเกจิชั้นผู้ใหญ่ 2 รูป ซึ่งเป็นคนบ้านสองพี่น้องเช่นเดียวกัน เมื่อครั้งอุปสมบทที่วัดสองพี่น้อง คือ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ของ สมเด็จป๋า (ปุ่น ปุณณสิริ) วัดโพธิ์ สมเด็จพระสังฆราชองค์ ที่ 17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นพระอนุสาวนาจารย์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ (สด จันทสโร) แห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญ

    หลวงพ่อโหน่งเป็นพระผู้มีปฏิปทาและจริยวัตรงดงาม เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านเริ่มขจรขยายไกล ทั้งด้านวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาอาคมต่างๆ หลวงพ่อแสง เจ้าอาวาสวัดคลองมะดัน หรือ วัดอัมพวัน อ.สองพี่น้อง ผู้เก่งกล้าในวิทยาอาคม ได้ทราบถึงกิตติศัพท์จึงเดินทางมาพบและสนทนาธรรมอยู่เป็นเนืองนิจ จนมีความสนิทสนมกันมากและได้ชักชวนหลวงพ่อโหน่งให้มาอยู่ด้วยกันที่วัดคลองมะดัน ซึ่งหลวงพ่อโหน่งก็ตอบตกลงด้วยความเต็มใจ เนื่องจากต้องการศึกษาความรู้เพิ่มเติมจากหลวงพ่อแสงเช่นกัน 

    หลวงพ่อโหน่งมรณภาพในปีพ.ศ.2477 สิริอายุ 69 ปี พรรษา 46 นับเป็นการสูญเสียพระเกจิผู้เปี่ยมด้วย ศีลจารวัตรและเมตตาบารมีธรรม พระอริยสงฆ์ผู้เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนโดยถ้วนทั่ว

    Read more
  • พระบูชา บูรพาจารย์ พระบูชาบูรพาจารย์-โชว์

    พระบูชา5นิ้วรุ่นแรก หลวงพ่อพริ้ง วัดบางประกอก ปี14

    หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก หรือ “ท่านพระครูวิสุทธิศิลาจารย์” จัดเป็นอีกหนึ่งคณาจารย์ยุคเก่าที่มีลูกศิษย์ทุกระดับชนชั้นมากมายรวมทั้ง “พระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักด์” ก็ได้เสด็จไปฝากตัวเป็นศิษย์ของท่าน หลวงพ่อพริ้งเป็นผู้มอบกระดูกหน้าผากนางนากให้เสด็จในกรมฯ ซึ่งมีความเฮี้ยนมากจนเป็นที่กล่าวถึงของพระโอรสและธิดา ซึ่งเสด็จเตี่ยบอกว่า ไม่ต้องกลัว และความเฮี้ยนของนางนากก็ปรากฏถึง ๒ ครั้ง ในตำหนักนางเลิ้ง

    ในเรื่องกระดูกหน้าผากของนางนากนี้ได้ปรากฏในงานเขียนประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) รวบรวมโดย ม.ล.พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา พ.ศ.2473 บรรยาย ไว้ว่าหลังจากที่นางนาคออกอาละวาดหนัก สมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านรู้เรื่องจึงลงไปค้างที่วัดมหาบุศย์และเรียกนางนาค ขึ้นมาคุยกัน ผลสุดท้ายท่านเจาะเอากระดูกหน้าผากของนางมาลงยันต์และทำเป็นปั้นเหน่งคาดเอว ผีนางนาคก็ไม่ออกมาอาละวาดอีกเลย

    และในเรื่องนี้ สมบัติ พลายน้อย ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ค้นคว้าและเขียนเรื่องของแม่นาคสรุปเอาไว้ว่า กระดูกหน้าผากแม่นาคนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้ประทานให้กับ สมเด็จหม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัต) และประทานให้ หลวงพ่อพริ้ง (พระครูวิสุทธิ์ศีลาจารย์) อีกต่อ จนมาถึงกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ไม่นานนักแม่นาคก็มากราบลา จากนั้นก็ไม่มีใครพบกระดูกหน้าผากของแม่นาคอีก   จึงนับได้ว่าในยุคนั้นท่านมีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้คณาจารย์ใด ๆ ในยุคเดียวกันเลย เนื่องจากหากหน่วยงานราชการในยุคนั้นมีพิธีพุทธาภิเษกที่สำคัญ ๆ แล้ว “หลวงพ่อพริ้ง” ก็จะต้องเป็นคณาจารย์อีกรูปหนึ่งที่ได้รับการนิมนต์ให้ไปร่วมพิธีทุกครั้ง ชื่อเสียงของท่านจึงขจรระบือไกล

    โดยประวัติหลวงพ่อพริ้ง มีนามเดิมว่า “พริ้ง เอี่ยมเทศ” เกิดเมื่อ พ.ศ. 2412 เป็นชาวบางปะกอก อำเภอราษฎร์บูรณะ เริ่มเรียนหนังสือด้วยการบวชเป็นสามเณรที่ “วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ)” กระทั่งอายุครบ 20 จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่ “วัดทองนพคุณ” อ.คลองสาน แล้วจึงไปจำพรรษาที่ วัดบางปะกอก จวบกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสครองวัดบางปะกอกจนกระทั่งมรณภาพ

    หลังจากเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์แล้ว “หลวงพ่อพริ้ง” ก็ได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งภาษาไทยและบาลีจนแตกฉาน ประกอบกับเป็นผู้ที่มีความสนใจทางด้าน “วิปัสสนากรรมฐาน” จึงทำการฝึกฝนทางด้านนี้อย่างจริงจังรวมทั้งเรียนด้านวิทยาคมเพิ่มเติมอีก กับคณาจารย์ต่าง ๆ หลายสำนัก ทำให้ท่านมีชื่อ เสียงเด่นดังทั้งทางด้าน คงกระพันชาตรีและเมตตามหานิยม แถมด้วย วิชาแพทย์แผนโบราณ อีกด้วยเพื่อนำมาสงเคราะห์ต่อชาวบ้านในสมัยนั้น โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่ได้รับนิมนต์ให้ไปร่วมประกอบพิธีหล่อและพุทธาภิเษก “พระกริ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ วัดสุทัศน์ )” ซึ่งมีพระคณาจารย์ชื่อดังหลายสิบรูปมาร่วมพิธีครั้งนี้ปรากฏว่า “แผ่นยันต์ ที่หลวงพ่อพริ้งทำการจารอักขระ” และได้นำไปใส่ในเบ้าหลอมรวมกับของคณาจารย์รูปอื่น ๆ ไม่ยอม “หลอมละลายเลย” เกิดเป็นปรากฏการณ์อันอัศจรรย์ให้เล่าขานมาถึงทุกวันนี้ โดยต้องนิมนต์ท่านมาทำการท่องมนต์กำกับแผ่นจารจึงละลายในเวลาต่อมา

    หรือในสมัยที่ก่อเกิด “สงครามอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ 2” (ระหว่าง พ.ศ. 2480–85) วัดบางปะกอกก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่ประชาชนทั่วไปได้มาขอพึ่งพาเป็นที่หลบภัย ทั้ง ๆ ที่วัดอยู่ไม่ไกลจากอู่ต่อเรือของทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาสร้างฐานทัพในประเทศ ไทยเท่าใดนัก โดยช่วงนั้นฝ่ายพันธมิตรได้นำเครื่องบินทิ้งระเบิดเพื่อทำลายฐานที่มั่นของ ทหารญี่ปุ่นมากมายหลายสิบลูก แต่ไม่มีระเบิดแม้แต่ลูกเดียวที่จะหลงหลุดลอยมาถึงวัดบางปะกอกได้เลย ทั้งนี้เป็นเพราะ “หลวงพ่อพริ้ง” ได้ทำพิธีขจัดปัดเป่าจึงทำให้บริเวณวัดบางปะกอกและใกล้เคียงรอดพ้นจากลูกหลง โดยสิ้นเชิง ทำให้ประชาชนชาวบางปะกอกสมัยนั้นต่างไม่มีใครลืมเหตุการณ์ในยุคนั้นได้เลย

    ด้วยเหตุนี้ชื่อเสียงท่านจึงโด่งดังมากเป็นผลให้ประชาชนทั่วสารทิศทั้งใกล้ ไกล ต่างมุ่งไปขอวัตถุมงคลจากท่านรวมทั้งไปให้ท่านช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งท่านก็ไม่เคยปฏิเสธผู้ใดไม่ว่าจะเป็นเจ้าใหญ่นายโตหรือประชาชนธรรมดาสามัญ หากไปขอให้ท่านช่วยสงเคราะห์แล้วเป็นได้รับเมตตาช่วยเหลือเสมอเหมือนกันหมด

    Read more
  • พระบูชา บูรพาจารย์

    พระบูชา6นิ้ว สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สมเด็จนวม) วัดอนงคาราม

    ท่านเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อ ครั้งที่หลวงพ่อเข้ามาเรียนบาลี และพำนักอยู่ที่วัดอนงคาราม

    *********************************************

    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคารามวรวิหาร กรุงเทพฯ
    ท่านเป็นพระมหาเถราจารย์ผู้ใหญ่ในสังกัดมหานิกาย ผู้ทรงคุณธรรมวิเศษ เจนจบในอักขระพระบาลี ชำนาญสามารถในวิปัสนากรรมฐาน ทรงสมาธิภาวนาชั้นสูง และยังเป็นเพื่อนสหธรรมมิกคุ้นเคยกับ สมเด็จสังฆราช แพ และหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า
    ~กล่าวถึงชีวประวัติโดยย่อ ~
    “สมเด็จพระพุฒาจารย์ นวม พุทธสโร ” ท่านเกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2407 ที่ตำบลวังแม่ลูกอ่อน อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เป็นบุตรหมื่นนรา (อินทร์) นางใย มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 8 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 6 ในเบื้องต้นได้ศึกษาหนังสือไทยที่วัดโคกเข็ม จังหวัดชัยนาท เมื่ออายุ 12 ปี ไปอยู่วัดอนงคาราม ธนบุรี กับพระใบฎีกาโป๋ พี่ชาย พออายุได้ 13 ปี ท่านบรรพชาเป็นสามเณร เรียนพระปริยัติธรรมคัมภีร์มูลกัจจายน์และพระธรรมบทจากนั้นท่านก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
    และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ดังนี้
    เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2449 เป็นพระธรรมธราจารย์ (พระราชาคณะชั้นสามัญ) วันที่ 30 ธันวาคม 2463 เป็นพระราชมงคลมุนี (พระราชาคณะชั้นราช) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2472 เป็นพระโพธิวงศาจารย์ (พระราชาคณะชั้นธรรม) วันที่ 1 มีนาคม 2484 เป็นพระมหาโพธิวงศาจารย์ (พระราชาคณะเทียบชั้นเจ้าคณะรองฝ่ายอรัญวาสี) วันที่ 19 ธันวาคม 2488 เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สมเด็จพระราชาคณะ)
    ท่านถึงแก่มรณภาพในวันที่ 28 กันยายน ปีพ.ศ.2499 สิริอายุได้ 92 ปี พรรษา 72
    ขณะอยู่ในเพศบรรพชิตท่านมีผลงานมากมาย อาทิ ปรับปรุงกิจการและระเบียบของวัดให้เจริญก้าวหน้าขึ้น จนปรากฏว่า วัดอนงคารามเป็นวัดที่เจริญขึ้นทุกๆ ด้าน ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยวิธีแสดงธรรมทุกวันธรรมสวนะ อบรมภิกษุสามเณรในปกครอง จัดระเบียบไหว้พระสวดมนต์ และอบรมจริยธรรมตามโรงเรียนต่างๆ ในความอุปการะของท่าน ตลอดทั้งอบรมสั่งสอนอุบาสกอุบาสิกาในวัดให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมและวัฒนธรรม สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ ปูชนียสถานและถาวรวัตถุต่างๆ ในบริเวณพระพุทธบาทสระบุรี
    กล่าวสำหรับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสโร) อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่ 6 แห่งวัดอนงคาราม กรุงเทพฯ เป็นพระสงฆ์ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรูปหนึ่ง มีจริยาวัตรงดงาม วาจาไพเราะ ท่านจะพูด “ดีจ้ะ” หรือ “จ้ะ” ลงท้ายแทบทุกคำ มีวิชาหุงน้ำมันมนต์ที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง “เหรียญรุ่นแรก” เป็นที่เล่นหากันในวงการ แต่มีจำนวนน้อยมาก แทบจะไม่พบเห็นเลย
    ท่านเป็นยอดพระเกจิอาจารย์เมืองกรุง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก จะเห็นได้ว่าท่านมีความสนิทสนมกับสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพ วราราม กรุงเทพ มหานครเป็นอย่างมาก รวมทั้ง (หลวงปู่ศุข) วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท จากหลักฐานสำคัญหลายๆ ครั้ง จะเห็นได้ว่าเวลาสมเด็จพระสังฆราช (แพ) จะสร้างพระกริ่งและชัยวัฒน์ มักจะนิมนต์ “สมเด็จนวม” มาร่วมนั่งปลุกเสกประจำทิศเสมอๆ ส่วนความสัมพันธ์กับ (หลวงปู่ศุข) นั้นลึกซึ้งยิ่งเพราะท่านทั้งสองเป็นชาวชัยนาทด้วยกันเวลา (หลวงปู่ศุข) มากรุงเทพมหานครมักจะมาพำนักกับสมเด็จนวมเสมอๆและร่วมปลุกเสกพระเครื่องกันเสมอดังจะเห็นได้จากรูปถ่ายการปลุกเสกร่วมของพระเกจิ อาจารย์สองท่านนี้หลายๆ ครั้ง
    “วัดอนงคารามวรมหาวิหาร”
    กล่าวสำหรับ “วัดอนงคารามวรวิหาร” มีชื่อเดิมคือ “วัดน้อยขำแถม” เป็นชื่อท่านผู้หญิงน้อย ซึ่งเป็นภรรยาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย เป็นผู้สร้างขึ้นคู่กันกับวัดพิชัยญาติแล้วถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชกาลที่ 3 ส่วนคำว่าขำแถมนั้นมีเพิ่มเติมมาจากนามเดิมของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ) ซึ่งเป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ ต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 วัดนี้ก็ได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า
    “วัดอนงคาราม” อย่างในปัจจุบัน
    พระอุโบสถที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ช่อฟ้า ใบระกาลงรักประดับกระจก หน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่างก็มีลวดลายลงรักปิดทองสวยงาม มีพระพุทธรูปสำคัญอย่างพระพุทธจุลนาคซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย เป็นพระประธานในพระวิหาร และมีพระพุทธรูปพระสาวกหล่อด้วยโลหะปิดทองยืนอยู่ด้านซ้ายขวา อีกทั้งด้านหน้าพระประธานยังมีพระพุทธมังคโลซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิตั้งอยู่ด้านหน้าอีกด้วย
    และใกล้ๆ กับพระวิหารนั้นก็ยังมีพระมณฑปซึ่งสร้างขนาบกับพระวิหาร หลังที่อยู่ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธ รูปไสยาสน์ที่จำลองมาจากวัดราชาธิวาส และหลังที่อยู่ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองเอาไว้
    “เหรียญพระแก้วมรกต”
    ครั้งหนึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) ท่านได้นิมิตไปว่า “มีพระอินทร์ได้เอาพระแก้วมรกตมาถวายท่านแล้ววันรุ่งขึ้นก็มีคนนำพระแก้วมรกตมาฝากให้ท่านเก็บรักษาไว้ท่านก็เลยนำเอารูปลักษณ์มาสร้างเป็น “เหรียญพระแก้วมรกต” และ “พระใบมะขาม”
    “เหรียญพระแก้วมรกต” และ “พระใบมะขาม” นั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) ได้รวบรวมเนื้อเงินโบราณ จากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เงินพดด้วงสมัยกรุงศรีอยุธยา เครื่องใช้ในราชพิธีต่างๆ แผ่นยันต์ แผ่นจาร โลหะธาตุที่เป็นมงคล ตะกรุดเก่า พระบูชา ทุกสมัยที่ชำรุดเสียหาย นำมาหล่อหลอมแล้วรีดจารอักขระหลายครั้ง
    จากนั้นนำมาสร้างเป็น “เหรียญพระแก้วมรกต” และ “เหรียญ ใบมะขาม” มีอานุภาพพุทธคุณเข้มขลัง บูชาพกพาอาราธนาติดตัว สมความปรารถนาเหมือนมีแก้วสารพัดนึกอยู่ติดตัวตลอดเวลา ว่ากันว่าพุทธ คุณครอบจักรวาลแคล้วคลาดปลอดภัย ป้องกันภูตผีปีศาจ ป้องกันคุณไสย ป้องกันลมเพลมพัด ป้องกันเสนียดจัญไร เดินทางแคล้วคลาดปลอดภัยจากภัยอันตรายต่างๆ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
    ถึงคราวคับขันให้นำเหรียญพระแก้ว มรกต หรือเหรียญใบมะขาม ใส่ในน้ำจุดธูปเทียน ดอกไม้ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เหล่าทวยเทพเทวดา ทุกชั้น ทุกวิมาน ทุกสถานที่ อธิษฐานในสิ่งที่ท่านปรารถนาทำเป็นน้ำพระพุทธมนต์อาบดื่มกิน ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้ท่านมีอายุยืนยาวนาน

    Read more
  • พระบูชา บูรพาจารย์ พระบูชาบูรพาจารย์-โชว์

    พระบูชา6นิ้ว หลวงพ่อเนียม วัดน้อย

    ท่านเป็นพระสหธรรมมิกของหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ เป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค ที่หลวงพ่อสุ่นบอกให้หลวงปู่ปานท่านไปเรียนวิชาความรู้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นบูรพาจารย์ของหลวงพ่ออีกองค์นึง

    **************************************

    เมื่อเอ่ยถึงหลวงปู่เนียม ผู้คนทั้งหลายจะต้องเรียกชื่อท่านควบกับชื่อวัดไปด้วย หรือเมื่อเอ่ยชื่อวัดน้อยนี้ก็ต้องควบชื่อท่านเข้าไปด้วยเช่นกัน เพราะในสุพรรณบุรีมีวัดที่ชื่อวัดน้อยหลายแห่งด้วยกัน แต่วัดอื่นๆ ก็ไม่ติดปากผู้คนเหมือนวัดน้อย หลวงปู่เนียม

    วัดน้อยเป็นวัดเก่าอายุกว่าร้อยปี มีเนื้อที่ประมาณ ๓๐ ไร่สร้างโดยผู้ใดไม่ปรากฏ อยู่ในท้องที่ตำบลโตกคราม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี วัดน้อยตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคม เส้นเดียวของเมืองสุพรรณบุรี สู่เมืองบางกอก

    สมัยเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ก่อนจะมีถนนมาลัยแมนตัดจากนครปฐมมายังตัวเมืองสุพรรณวัดน้อยอยู่ระหว่างอำเภอบางปลาม้ากับตัวจังหวัด คิดระยะทางทางน้ำ ก็จะอยู่ห่างตัวเมืองสุพรรณราวเจ็ดแปดกิโลเมตร สมัยเมื่อราวๆ ร้อยปีที่ผ่านมา วัดน้อยมีความเจริญสูงสุด เพราะครองวัดโดยพระมหาเกจิ-เถราจารย์นามกระเดื่อง ผู้เชี่ยวชาญทางคันถธุระ วิปัสสนาธุระและวิทยาคมชื่อหลวงปู่เนียม

    ในสมัยที่หลวงปู่ครองวัดอยู่ วัดน้อยของหลวงปู่ มีพระเณรมากกว่าวัดอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียง และค่อนข้างจะคลาคล่ำไปด้วยผู้ศรัทธาที่มาให้ท่านช่วยรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยยาสมุนไพร น้ำมนต์และอาคม ที่ชะงัดมากเห็นผลทันตาก็เรื่องหมาบ้าและงูพิษกัด เพียงเสกเป่าพรวดออกไปแล้วบอกว่า เอ้า ! มึงไปได้แล้ว ก็ไม่เห็นมีใครตายสักราย น้ำมนต์ของท่านเล่าลือว่าศักดิ์สิทธิ์นัก

    ถาวรวัตถุที่เชื่อกันว่าสร้างมาในสมัยหลวงปู่ที่ยังพอมีให้เห็นก็คือ มณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ ศาลาข้างสระน้ำ ซึ่งสิ่งก่อสร้างทั้งสามนี้มีสภาพเป็นซากที่ถูกทอดทิ้งใช้การไม่ได้แล้ว

    ถนนมาลัยแมน ที่สร้างขึ้นมาเมื่อราว ๕๐ ปีก่อน ทำให้สุพรรณบุรีเป็นเมืองเปิดขึ้นมาโดยทันที แม่น้ำท่าจีนที่เคยเป็นเส้นทางคมนาคมเดียวสู่บางกอกเริ่มลดความสำคัญ การเดินทาง และการส่งสินค้าเข้าออกเมืองสุพรรณทางเรือก็ค่อยเปลี่ยนเป็นทางรถยนต์และรถไฟ หน้าวัดที่คลาคล่ำด้วยหรือแพ เริ่มน้อยลงๆ จนไม่มีเลยในปัจจุบัน ผู้คนจะไปไหนๆไม่จำเป็นต้องผ่านวัดน้อยอีกแล้ว ผู้คนที่มาทำบุญที่วัดน้อยลง คนรุ่นหนุ่มสาวที่พอมีกำลังทำบุญแทบไม่เหลือติดหมู่บ้าน วัดในตำบลโตกครามก็มีมากเสียจนผู้คนในตำบลนี้ ไม่สามารถที่จะอุปถัมภ์ได้ทุกวัด

    ความเสื่อมโทรมของวัดน้อยค่อยๆ เริ่มขึ้นพร้อม ๆ กับความเจริญของจังหวัดสุพรรณบุรี

    ในวัดน้อยเองขณะนี้ก็มีพระเณรอยู่ในวัดเพียงไม่ถึงสิบรูป แค่เพียงดูแลถาวรวัตถุ เช่น กุฏิ วิหาร มณฑป หอฉัน ศาลา ที่หลวงปู่สร้างไว้ ไม่ให้ผุพังไปตามกาลเวลาก็ดูจะเป็นเรื่องยากเสียแล้ว รายได้เข้าวัดน้อยมากสมชื่อวัด น้อยเสียจนทำอะไรไม่ค่อยได้ บางวันพระเณรต้องหุงหาอาหารไว้ฉันกันเอง ผู้คนที่จะมาที่วัดน้อยในปัจจุบันนี้ ร้อยทั้งร้อยจะแวะมาเพียงเพื่อมากราบรูปหล่อของหลวงปู่เนียมในมณฑปเท่านั้น

    ประวัติของหลวงพ่อเนียม

    หลวงปู่เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๒ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ท่านเป็นคนบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรีโดยกำเนิด มารดาของท่านเป็นคนบ้านป่าพฤกษ์ ตำบลตะค่า อำเภอบางปลาม้า ส่วนบิดาเป็นคนบ้านส้อง ตำบลมดแดง อำเภอศรีประจันต์ แต่ได้ย้ายมาลงหลักปักฐานอยู่ที่บ้านฝ่ายหญิงตามประเพณี หลวงปู่มีพี่สาวชื่อจาด ท่านเป็นคนที่สอง มีน้องชายหนึ่งคนชื่อเสียงใดไม่ปรากฏ การศึกษาของท่านก็คงเหมือนลูกชาวบ้านทั่วไปคือ เรียนอักขรวิธีและภาษาบาลีจากพระในวัดใกล้บ้าน เมื่อครบบวช (พ.ศ.๒๓๙๒-๒๓๙๓) ก็บวชตามประเพณี คาดว่าคงเป็นวัดป่าพฤกษ์หรือไม่ก็วัดตะค่า

    เล่ากันว่าเมื่อท่านอยู่ในสมณเพศแล้วท่านก็เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย มูลกัจจายนสูตร วิปัสสนา และเวทย์มนต์คาถาจากพระเถรานุเถระสำนักต่างๆ ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าท่านมาพำนักอยู่วัดใดและเป็นศิษย์สำนักใดแน่ บ้างก็ว่าท่านมาอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์ บ้างก็ว่าวัดโพธิ์ วัดทองธรรมชาติ และวัดระฆังโฆสิตาราม

    ในสมัยนั้นเมื่อกล่าวถึงพระคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญในเรื่องของวิปัสสนาธุระแล้ว ต้องยกให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) หลวงปู่ช่วง วัดรังสี (ขณะนี้รวมเป็นวัดเดียวกับวัดบวรฯ) หลวงปู่คำ วัดอัมรินทร์ หลวงปู่จันทร์ วัดพลับ

    เล่ากันว่าหลวงปู่พำนักเล่าเรียนอยู่ที่เมืองบางกอกถึง ๒๐ พรรษา เมื่อร่ำเรียนจนจบกระบวนการแล้ว ท่านก็กลับมาอยู่ที่วัดที่ท่านบวชชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็ย้ายไปอยู่ที่วัดรอเจริญ อำเภอบางปลาม้า (อยู่เยื้องลงมาทางใต้ของวัดน้อยไม่กี่ร้อยเมตร) ท่านอยู่ที่วัดรอเจริญได้ไม่นาน ชาวบ้านวัดน้อยเห็นแววของท่านก็มานิมนต์ท่านให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดน้อยที่ทรุดโทรมและกำลังจะร้าง เพราะขาดสมภารเจ้าวัด เมื่อท่านมาอยู่วัดน้อยตามศรัทธาของชาวบ้านแล้วก็ร่วมมือกับชาวบ้านสร้างหอฉัน และบูรณะโบสถ์ วิหาร จนดี มีสภาพเป็นวัดขึ้นมาอีกครั้ง วัดน้อยเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ มีพระเณรมากขึ้นทุกปี เล่ากันว่าทุกก่อนเข้าพรรษาชาวบ้านทั้งในละแวกนิ่งและละแวกใกล้เคียงจะนำบุตรหลานมาให้ท่านบวชให้มากมาย และที่จำพรรษาที่วัดน้อยก็มีเกือบสิบรูปทุกปี

     

     

     

    ปาฏิหาริย์และวัตถุมงคลของหลวงปู่เนียม

    มีเรื่องเล่าสืบทอดกันมาถึงปาฏิหาริย์ของหลวงปู่เนียมมากมาย ประวัติและปาฏิหาริย์ของท่านได้ถูกเขียนลงในนิตยสารพระเครื่องดังๆ หลายฉบับ พระเครื่องที่ท่านทำขึ้นมาเพื่อแจกสานุศิษย์มีหลายพิมพ์ด้วยกัน ได้แก่ พิมพ์พระประธาน พิมพ์พระคง พิมพ์ปรุหนัง พิมพ์พุทธลีลา พิมพ์ขุนแผน และที่ดังมากก็คือพิมพ์งบน้ำอ้อย พิมพ์มารวิชัยเศียรโล้น และพิมพ์เศียรแหลม พระของหลวงปู่ทุกพิมพ์เป็นเนื้อชินตะกั่ว มีรูปทรงไม่สวยนัก แต่มีพุทธคุณสูงยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องคงกระพัน ขณะนี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในมือของคนรุ่นลูก หลาน เหลนของสานุศิษย์แท้ ๆ ของท่าน ในพื้นที่บางปลาม้า ซึ่งเห็นห้อยคอเดี่ยวๆ และไม่ค่อยจะมีใครยอมปล่อยให้หลุดจากคอ พระของหลวงปู่จึงไม่ค่อยมีให้เห็นในตลาดพระ ส่วนที่เล็ดลอดออกมาบ้างก็มีสนนราคาเป็นเรือนหมื่นทุกพิมพ์ นอกจากพระเครื่องแล้ว ที่กล่าวตรงกันว่าศักดิ์สิทธิ์นักคือน้ำมนต์ของท่านและการรักษาพิษงูและหมาบ้า

    รักษาพิษงูและพิษหมาบ้า

    สมัยก่อนไม่ว่าท้องไร่ท้องนาถิ่นไหนจะมีงูชุกชุมมาก แต่ละปีจะมีผู้ถูกงูพิษกัดตายหลายราย เพราะไม่มีเซรุ่มจะฉีด เช่นเดียวกับคนโดนหมาบ้ากัดจะต้องตายทุกรายไป คุณสมบัติ พัดขุนทด (มาลา) บุตรสาวของสมุห์เหลือ มาลาอดีตสรรพากรจังหวัดสุพรรณบุรี พี่สาวของคุณวิภาวัลย์ ต้นสายเพ็ชร (มาลา) ผู้ที่พาผู้เขียนไปรู้จักวัดน้อยเล่าว่า คุณยายของท่านเล่าให้ฟังว่าเมื่อครั้งเป็นเด็ก ได้ถูกหมาบ้ากัดแถวๆ บ้านหลังวัดกลาง พ่อแม่ต้องพานั่งเรือพาย พายไปตามลำน้ำท่าจีน ผ่านวัดสวนหงษ์ วัดรอเจริญ และวัดอะไรต่อมิอะไรอีกหลายวัดไปให้หลวงปู่รักษาให้ เมื่อไปถึงท่าน ท่านก็ทักว่า มึงโดนไอ้ดำมันกัดเอาใช่ไหม มันเพิ่งวิ่งผ่านหน้ากูไปเมื่อกี้นี้เอง แล้วท่านก็เป่าพรวดๆ ให้ แล้วว่า มึงไม่ตายแล้ว อายุยืนซะด้วยนะมึง (หมาไม่ได้วิ่งไปทางวัดน้อยดอก วัดของท่านอยู่ห่างที่เกิดเหตุไปหลายกิโลเมตร ท่านคงเห็นโดยญาณ) แล้วคุณยายก็อยู่มาจนถึงอายุ ๙๓ ปี

    น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เล่ากันว่าครั้งหนึ่งมีคนจีนคนหนึ่ง ตั้งบ้านเรือนอยู่แถววัดโพธิ์คอย ซึ่งอยู่ไม่ใกล้ไม่ ไกลวัดน้อยนัก ได้พายเรือมาหาท่านด้วยความร้อนรน เนื่องด้วยลูกสาวของแกป่วยหนัก รักษาทางยามาก็มากแล้วอาการก็ไม่ทุเลา ซ้ำทำท่าจะแย่ลงทุกที (บางคนเล่าว่าลูกสาวเจ็บท้องจะคลอดลูก แต่ลูกไม่ออก เจ็บปวดทุรนทุราย) มาถึงวัดก็เห็นหลวงปู่อยู่บนหลังคาศาลาท่าน้ำ กำลังช่วยพระเณรมุงหลังคากันอยู่ ด้วยความรีบร้อนก็ตะโกนเรียกหลวงปู่ให้ลงมาช่วยทำน้ำมนต์ให้หน่อย แต่ท่านก็คงให้รอก่อนหรืออย่างไรไม่แจ้ง เถ้าแก่คงร้อนใจและเซ้าซี้ท่านจนน่ารำคาญ และอาจจะเป็นด้วยท่านต้องการจะแสคงอภินิหารหรือรำคาญเถ้าแก่คนนั้น ไม่มีใครเดาได้ ท่านจึงตะโกนจากหลังคาศาลาท่าน้ำว่า มึงตักน้ำที่ตีนท่านั่นแหละไป กูเสกไว้แล้ว แล้วท่านก็มุงหลังคาต่อ เถ้าแก่คนนั้นไม่รู้จะทำท่าไหน คงโมโหไม่เบา นั่งมุงหลังคาอยู่เห็นชัดๆ เสกแสกอะไรกัน แต่ก็สิ้นท่าแล้ว ชีวิตลูกสาวแขวนอยู่บนเส้นด้าย จะพาไปโรงพยาบาลหลวงก็อยู่บางกอกโน่น แจวเรือไปสามวันสองคืนก็ยังไม่ถึง เมื่อร้อยปีก่อนโน้นเรือเมล์แดงก็ยังไม่มี ถึงมีก็เถอะก็ต้องวิ่งกันถึงค่อนวันกว่าจะถึง หมดท่าแล้ว หลวงปู่ให้ตักเอาน้ำที่หัวบันไดท่าน้ำไป ก็ต้องเอา ใจน่ะ ไม่ค่อยจะเชื่อเอาเสียเลยแต่ก็ไม่รู้จะทำท่าไหน เล่าว่าเถ้าแก่คนนั้นจ้วงตักเอาน้ำนั้นไปด้วยความโมโหและไม่เลี่อมใสว่าน้ำในแม่น้ำจะเป็นน้ำมนต์ได้อย่างไร ครั้นจะไม่เอาก็เกรงใจ เกรงว่าวันหน้าจะเข้าหน้ากันไม่ได้ พอพายเรือกลับ เลยหน้าวัด พ้นสายตาหลวงปู่ ก็หยิบเอาขวดหรือไหที่ใส่มา เททิ้งด้วยความโมโห และก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้น คือน้ำนั้นเทไม่ออก และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา คนสุพรรณต่างก็รู้กันว่า น้ำในแม่น้ำหน้าวัดหลวงปู่เนียมศักดิ์สิทธิ์เท่ากับน้ำมนต์ที่ท่านทำขึ้นมา เพียงอธิษฐานจิตคิดถึงหลวงปู่ก็เอาไปใช้ได้เช่นกัน แม้ขณะนี้ก็ยังเห็นคนเฒ่าคนแก่ มาตักเอาน้ำมนต์ในตุ่มหน้าองค์ท่านไปใช้ ซึ่งก็เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ เหมือนเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่

    ญาณวิเศษรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า

    ไตรภาคี กล่าวถึงหลวงปู่เนียมว่า หลวงปู่สำเร็จวาโยกสิณขั้นอภิญญา สามารถล่วงรู้อนาคตและรู้ความในใจของคนที่สนทนากับท่านได้ โดยเขียนว่าหลวงพ่อปานเคยเล่าให้ศิษย์ของท่านฟังว่าวันหนึ่งแมวของหลวงปู่เนียมตายไป วันนั้นขณะที่หลวงปู่ฉันข้าวร่วมวงอยู่กับพระลูกวัดสองรูปอยู่ดีๆ หลวงปู่เนียมก็หัวเราะก๊ากขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยแล้วก็เอ่ยขึ้นว่า เออ อีไฝของกูมันดีเว้ย มันไปเกิดเป็นคนแล้ว แล้วก็เอ่ยต่อถึงชื่อของผัวเมียคู่หนึ่งที่ท้ายตลาดคอวัง พระลูกวัดที่ร่วมวงได้ยินท่านพูดและจำไว้ด้วยความสงสัย อีกหนึ่งปีต่อมาพระสองรูปนั้นก็ลองไปที่ตลาดคอวังเพื่อพิสูจน์คำพูดของหลวงปู่ โดยไปถามหาผัวเมียคู่ที่หลวงปู่เนียมพูดถึง ก็พบว่ามีลูกสาวเกิดมาแล้วอายุได้หนึ่งเดือน มีรูปพรรณตรงกับที่หลวงปู่บอกไว้ คือมีไฝที่ริมฝีปากเหมือนแมวตัวที่ตายไปเมื่อปีที่แล้วจริง พระทั้งสองรูปบอกความจริงให้สองผัวเมียทราบถึงการมาพิสูจน์ของท่าน สองผัวเมียดีใจที่ลูกของตนคือแมวของหลวงปู่กลับชาติมาเกิด เมื่อเด็กอายุได้สามเดือน จึงพากันมาที่วัดแล้วเอาเด็กไปประเคนที่หน้าตัก บอกยกให้เป็นลูกหลวงปู่ หลวงปู่ทำท่าตกใจถามว่า พวกมึงเอาอีหนูนี่มาประเคนให้กูทำไม ถามไปถามมาก็รู้เรื่องพระลูกวัดสองรูปที่ไปหาผัวเมียคู่นั้น หลวงปู่จึงให้พระทั้งวัดมายืนให้ผัวเมียคู่นั้นดูว่าเป็นพระรูปใดที่ไปหา แต่พระทั้งสองรูปได้หลบไปซ่อนตัว กลัวโดนด่าอยู่หลังวัด หลวงปู่ก็รู้ว่าไปแอบที่ไหน จึงให้พระรูปหนึ่งไปตาม แต่พระทั้งสองรูปขอให้มาโกหกว่าตามหาไม่พบ พระรูปนั้นก็กลับมาบอกหลวงปู่ตามที่สั่งกัน ท่านก็สวนคำไปว่า มันจะพบได้ยังไงวะ ก็มันสั่งมึงให้มาบอกกูว่าหาไม่เจอนี่หว่า

    มีเรื่องเล่าสืบทอดกันมาอีกเรื่องว่า ท่านสามารถสื่อความหมายรู้เรื่องกับสัตว์เลี้ยงของท่าน เขาเล่ากันว่าท่านเลี้ยงไก่ หมา กับแมวไว้มากมาย บนกุฏิของท่านยั้วเยี้ยไปด้วยแมว ชาวบ้านจะเห็นว่า วันๆ ถ้าว่างจากพูดคุยกับคนท่านก็จะพูดกับสัตว์พวกนี้เหมือนดังว่ามันรู้ภาษา พอมันร้องอี๊ดอ๊าดตอบ ท่านก็พูดต่อคำกับมันเป็นเรื่องเป็นราว คนในละแวกวัดน้อยหลายคนหาว่าท่านเป็นบ้า ร้อนวิชา ที่ใช้เวลาวัน ๆ ถ้าไม่พูดกับคน ก็พูดคุยกับแมว หมา กา ไก่ ในวัดและมีวัตรแปลก ๆ อยู่เสมอ

    ครั้งนึงในสมัยหลวงพ่อปานธุดงค์มาถึงวัดน้อย เห็นพระแก่ๆ ครองสบงเก่า ๆ มอมแมมทำงานวัดอยู่กับพระเณร หลวงพ่อปานก็เดินตรงเข้าไปสนทนาด้วย แล้วถามหาหลวงปู่เนียม ท่านก็บอกว่าฉันนี่แหละชื่อเนียม ถึงได้รู้กัน ก็คงมีการกราบกรานขอโทษขอโพยกันตามธรรมเนียมที่จุดไต้ตำตอ เพราะไม่คาดว่าพระแก่มอมแมมจะเป็นพระเถราจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ จึงปวารณาตัวขอเป็นศิษย์ ครั้งแรกท่านก็ปฏิเสธท่าเดียว โดยถ่อมตนเองว่า เป็นลูกศิษย์ฉันจะได้อะไร คนแถวนี้เขาว่าฉันบ้ากันทั้งนั้น หลวงปู่ท่านทำไม่สนใจไล่กลับลูกเดียว แต่โดยคำแนะนำของพระลูกวัด บอกให้หลวงพ่อปานค้างคืนอยู่ที่วัดก่อน คงประกอบกับความอุตสาหะของหลวงพ่อปานด้วย ท่านก็ทำตามคำแนะนำ ครั้นพอเวลากลางคืนยามดึกสงัด หลวงปู่ก็ให้พระไปตามหลวงพ่อปานเข้าไปพบที่กุฏิ เขาว่าหลวงพ่อปานตกใจมาก เพราะรูปร่างหน้าตาของหลวงปู่เนียมที่เห็นนั้น ผอมเกร็ง-ดำ-แก่และมอมแมม ตอนนี้ครองจีวรเรียบร้อยสะอาดสมบูรณ์ สดใส ผิดกับที่พบเมื่อตอนกลางวันเป็นคนละคนเลย นั่งอยู่เหมือนจะรอให้ท่านเข้าพบ ในที่สุดหลวงพ่อปานก็ได้เป็นศิษย์ดังที่เรารู้กัน

    เล่าขานสืบกันมาอีกว่าตลอดระยะเวลาที่หลวงปู่มีชีวิตอยู่นั้น ไม่เคยมีใครถ่ายรูปท่านได้ โดยเมื่อครั้งคุณพระประมาณฯ เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน นำฝรั่งช่างรังวัด๒ คนมารังวัดที่ ในเขตเมืองสุพรรณ เพื่อออกโฉนดให้ราษฎร์ เมื่อรังวัดมาถึงท้องที่วัดน้อย ก็ได้ถือโอกาสเข้าขอถ่ายรูปหลวงปู่ โดยให้ฝรั่งเอากล้องถ่ายรูปของทางราชการช่วยถ่ายให้ ตัวคุณพระประมาณฯ นั้น เคยรู้กิตติศัพท์มาแล้วว่ามีคนเคยมาขอถ่ายรูปหลวงปู่หลายรายแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จสักราย คราวนี้มีกล้องฝรั่งอย่างดีมาด้วย ก็อยากจะลองพิสูจน์สักหน่อย มันก็น่าจะติด โดยคุณพระฯ ได้นิมนต์หลวงปู่และพระทั้งวัดมานั่งเรียงลำดับแล้วถ่ายรูปหมู่และถ่ายเดี่ยวด้วย แต่จะเป็นกี่รูปไม่ทราบ ครั้นเมื่อนำฟิล์มไปล้างอัดเป็นรูปออกมา ความอัศจรรย์ก็ปรากฏคือ ในทุกภาพที่อัดออกมาไม่มีรูปของหลวงปู่ติดอยู่ด้วยเลย ที่ถ่ายเดี่ยวข้างโอ่งน้ำมนต์ก็ติดแต่ตัวโอ่ง เล่ากันว่าทั้งตัวคุณพระประมาณฯ และฝรั่งทั้งสองคนต่างก็เลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงปู่ยิ่งนัก และได้ปวารณาตัวฝากตัวขอเป็นศิษย์หลวงปู่

    ทดสอบวิชากับหลวงปู่ปาน วัดบางเหี้ย

    เล่ากันว่า วันหนึ่งท่านให้ชาวบ้านเตรียมภัตตาหารเลี้ยงพระไว้ ๕๐ สำรับ ซึ่งยังความแปลกใจให้ชาวบ้านมาก เพราะหลวงปู่ไม่เคยบอกว่าพรุ่งนี้จะมีงานอะไร วันที่ว่าก็ไม่ใช่วันพระ พระเณรในวัดก็มีแค่ไม่ถึงสิบรูป สงสัยเป็นหนักหนาก็พากันไปกามท่าน ท่านก็ยิ้มๆ แล้วบอกว่า พวกมึงทำมาเถอะน่า ชาวบ้านไม่กล้าซักไซ้มากกลัวท่านจะเอ็ดเอา วันรุ่งขึ้นต่างก็พากันนำอาหารมาตามที่ท่านขอ ดูชุลมุนวุ่นวายราวกับมีงานใหญ่ ครั้นพอถึงเวลาเพล ก็ไม่เห็นมีพระเณรที่ไหนจะมาฉัน ต่างซุบซิบกันว่าท่านจะเล่นอะไรอีกละนี่ แต่เลยเพลมาครู่เดียวก็พากันตกตะลึงด้วยความอัศจรรย์ใจ เพราะเห็นพระเณรจำนวนมาก แบกกลดเดินตามพระแก่ ๆ รูปหนึ่งเป็นแถวเข้ามาในวัด ชาวบ้านเห็นหลวงปู่ออกไปปฏิสันฐานทักทายกับหลวงพ่อองค์นั้นแบบคนรู้จักกัน ทั้งๆ ที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน แล้วหลวงปู่ก็นำพระเณรทั้งหมดขึ้นไปบนหอฉัน ภายหลังชาวบ้านก็ทราบว่าหลวงพ่อรูปนั้นคือ หลวงปู่ปานแห่งวัดบางเหี้ย คลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ เจ้าของเขี้ยวเสือที่ศักดิ์สิทธิ์ของนักเลงพระในปัจจุบัน ซึ่งท่านนำพระเณรสานุศิษย์เกือบร้อยรูปธุดงค์ลัดเลาะตามทางเกวียนผ่านมาเพื่อไปกราบนมัสการหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลย์ เมื่อจวนเวลาเพลก็ธุดงค์มาใกล้วัดน้อย และพอได้ยินกลองเพลดังขึ้น ก็เกิดลมพายุขึ้นอย่างแรงจนพระเณรที่แบกกลดพะรุงพะรังแทบจะทรงตัวไม่อยู่ เล่ากันว่าหลวงปู่ปานแปลกใจในปรากฏการณ์นี้มาก ท่านยืนหลับตาสงบเงียบอยู่ชั่วครู่ แล้วก็บอกพระเณรลูกแถวของท่านว่า จะต้องแวะฉันเพลที่วัดน้อยซะแล้ว เพราะเจ้าวัดท่านนิมนต์ให้แวะ ไม่ควรขัดศรัทธา และทันใดนั้นเองพายุนั้นก็สงบลงทันที

    ห้ามฝนตกในงานวัด

    เล่ากันว่าเมื่อต้นฤดูฝนปีหนึ่ง ท่านมีอายุครบ ๖ รอบ ชาวบ้านร่วมใจกันจัดงานทำบุญแซยิดให้ท่าน โดยจัดเป็นงานใหญ่ มีเทศน์หลายธรรมาสน์ มีการออกร้านมีการละเล่น ลิเก ลำตัด เพลงฉ่อย หนังตะลุง ฯลฯ สมโภชฉลองกันอย่างเอิกเกริกแบบงานประจำปี มีร้านขายดอกไม้ธูปเทียน และทองบูชาหลวงพ่อในโบสถ์ มีร้านรวงขายของเล่น จับรางวัลและขายอาหารเพียบพร้อม ซึ่งบังเอิญช่วงเวลานั้นเข้าหน้าฝนแล้ว พอเวลาใกล้ค่ำผู้คนก็ทยอยเข้ามาเรื่อยๆ แต่ปรากฏว่ามีกลุ่มเมฆดำที่ก่อตัวมาจากที่อื่นถูกลมพัดพามาปกคลุมท้องฟ้าเหนือบริเวณวัดดูมืดครึ้มไปหมด แล้วฝนก็พรำๆ ลงมา ชาวบ้านเริ่มวิ่งหลบเข้าหาที่กำบังกัน ตามใต้ถุนกุฏิและศาลา ดูกลุ่มเมฆแล้วฝนต้องตกหนักแน่ ทุกคนคาดกันว่างานนี้ต้องพังแน่นอน พวกร้านรวงที่ไม่มีหลังคากำบัง ก็โกลาหลเริ่มขนย้ายข้าวของหาที่หลบฝน ขณะนั้นเองคนทั้งหลายก็เห็นหลวงปู่เดินออกมาจากกุฏิ ยืนแหงนมองดูท้องฟ้า สักพักใหญ่ๆ แล้วเดินวนไปมาแบบเดินจงกรม อีกชั่วครู่ท่านก็ตะโกนบอกชาวบ้านว่าไม่ต้องเก็บข้าวของแล้วเทวดาท่านช่วยไล่ฝนไปแล้ว ชาวบ้านต่างก็แหงนมองดูฟ้าก็เห็นปรากฏการณ์อัศจรรย์ขึ้น กล่าวคือเห็นกลุ่มเมฆหนาทึบนั้นแตกตัวลอยห่างออกไป แล้วท้องฟ้าเหนือวัดก็ค่อยแจ่มใสขึ้น เม็ดฝนที่พรำลงมาก็ขาดเม็ดไป ผู้คนก็เริ่มทยอยกันเข้ามาจนเต็มงาน เล่ากันว่าเมื่องานเลิกผู้คนที่อยู่ห่างวัดออกไปสักหน่อยก็ต้องเดินท่องน้ำกลับบ้าน

    ปราบคุณไสย

    คุณป้าทรัพย์ เหลนชวดจาด พี่สาวของหลวงปู่ ที่ผู้เขียนไปหาเพื่อขอประวัติของหลวงปู่ เล่าว่าชวดจาดเคยคุยให้ฟังว่า หลังฤดูเก็บเกี่ยวของทุกปี จะมีคนกลุ่มหนึ่งรู้จักกันว่า เป็นพวกลาวข่าจากหมู่บ้านห่างไกล รวมกลุ่มตระเวนมาตามหมู่บ้านต่างๆ พวกนี้จะร่อนเร่มาขายเครื่องยาสมุนไพร-เครื่องรางของขลังของเผ่า หรือทั้งขาย แลก และขอข้าวสาร ข้าวเปลือก เสื้อผ้าและของอื่นใดที่เหลือกินเหลือใช้จากชาวบ้าน ตระเวนกันเป็นแรมเดือนและเข้าไปแทบจะทุกหมู่บ้านเลย ตกเย็นคนพวกนี้ก็จะมารวมพลค้างแรมกันตามวัด ซึ่งโดยทั่วไปค่อนข้างจะกว้างขวางโล่งเตียนปราศจากสัตว์ร้าย วันหนึ่งที่วัดน้อยก็มีคนกลุ่มนี้มาอาศัยพักแรม รวมพลและรวมเสบียงที่ขอมาได้ ตกเย็นมีการหาปลาโดยการทอดแห วางข่ายกันแถวปากคลองข้างวัด มาประกอบอาหาร ส่วนที่เหลือก็ทำเค็มตากแห้งไว้เป็นเสบียง ที่ๆ ทำปลาและตากปลาก็คือพื้นสะพานศาลาท่าน้ำหน้าวัดหลังนั้นนั่นแหละ เป็นที่สกปรกเกะกะมาก หลวงปู่มาเห็นเข้าขณะที่พวกมันกำลังทำปลาอยู่พอดี ท่านก็เอ็ดเอาว่าไอ้พวกนี้นรกจะกินหัว จับปลาหน้าวัดแล้วทำเลอะเทอะเกะกะไปหมด พระเณรจะอาบน้ำอาบท่าก็ไม่ได้ ขวางไปหมด ไปๆ พวกมึงไปทำกันที่อื่น ท่านคงว่าไปมากกว่านี้ แล้วท่านก็หันหลังเดินกลับและแล้วท่านก็ต้องเหลียวขวับกลับมา เพราะมีเสียงแซกๆ มาข้างหลัง หัวปลาสดๆ ที่เจ้าพวกนั้นตัดแยกไว้เตรียมทำเค็ม กองไว้บนพื้นสะพานนั้นเอง กระดืบตามหลังท่านมาเป็นขบวน ท่านหันหลังกลับทันที ชี้มือไปที่กลุ่มลาวข่านั้นแล้วตวาดว่า พวกมึงจะทำอะไรกู หัวปลาเหล่านั้นก็หยุดอยู่กับที่ ท่านคงด่าต่อไปอีกเป็นแน่ เพียงครู่เดียวแล้วเจ้าลาวข่าคนสูงอายุที่เป็นจ่าฝูง ที่นั่งเฉยๆ ดูลูกเมียทำปลาอยู่ใกล้ๆ ก็ตัวงอหน้านิ่วคิ้วขมวด พวกลูกเมียและพวกบริวารทั้งหลายก็รู้ได้ทันทีว่า ไอ้ตัวจ่าฝูงโดนหลวงปู่เล่นงานกลับแล้ว ต้องกราบขอโทษขอให้หลวงปู่ถอนอาคมให้

    ย่นระยะทาง

    คุณป้าทรัพย์ เล่าแถมอีกสองเรื่อง เรื่องที่หนึ่งว่าแม่ของแกเล่าว่า ครั้งหนึ่งหลวงปู่ได้รับตราตั้งอะไรจำไม่ได้ ซึ่งต้องไปรับตาลปัตรที่เมืองบางกอก เมื่อถึงกำหนดแล้วก็ไม่เห็นหลวงปู่กระตือรือร้นที่จะไป พวกลูกหลานลูกศิษย์ลูกหาก็มาเตือนให้ไป ท่านก็ได้แต่เออๆ แต่ไม่ไปสักที เตือนแล้วเตือนอีกหลายหน เพราะกลัวว่าท่านจะลืมและเลยกำหนด มาวันหนึ่งก็มาเซ้าซี้ให้ท่านไปอีก ท่านก็บอกไปว่า กูไปรับมาแล้วโว้ย พวกลูกศิษย์ก็เถียงว่าหลวงพ่อไปเมื่อไหร่ ฉันเห็นหลวงพ่ออยู่วัดทุกวัน ท่านก็เถียงกลับว่า เออ กูไปรับมาแล้วซิวะ แล้วท่านก็เดินเข้ากุฏิถือตาลปัตรพัดยศออกมาให้ดู

    ไปรับบิณฑบาตที่พระพุทธบาท สระบุรี

    มีเรื่องเล่าถึงการย่นระยะทางไปมาตามที่ต่างๆ คล้ายกับที่คุณป้าทรัพย์เล่าเรื่องหลวงปู่ไปรับพัดที่เมืองบางกอก เรื่องมีอยู่ว่า ไม่ว่าฝนจะตกฟ้าจะร้องอย่างไร หลวงปู่ต้องนำขบวนพระลูกวัดออกรับบิณฑบาตเป็นกิจวัดร ถ้าหน้าแล้งก็อาจเดินไปตามทางหลังวัด หรือไม่ก็ทางน้ำโดยเรือพาย อยู่มาวันหนึ่งในเดือนสาม ซึ่งเป็นหน้าเทศกาลไหว้พระพุทธบาท สระบุรี ท่านให้พระลูกวัดออกไปบิณฑบาตกันเอง ครั้นเมื่อพระลูกวัดกลับมาแล้ว และตั้งวงฉันเช้า หลวงปู่ก็เอาบาตรของท่านออกมาร่วมวงด้วย เมื่อท่านเปิดฝาบาตรเท่านั้น พวกพระลูกวัดต่างก็แปลกใจมาก เพราะในบาตรนั้นมีข้าวปลาอาหารและไข่เค็มเต็มบาตร จึงพากันถามท่านว่าไปรับบิณฑบาตบ้านไหน ท่านก็ตอบหน้าตาเฉยว่า ข้าไปบิณฑบาตที่พระพุทธบาท สระบุรี

    เหตุการณ์แปลก ๆ เช่นนี้เกิดขึ้นอีกครั้งตอนเช้ามืดของวันหนึ่ง ท่านให้พระลูกวัดไปบิณฑบาตกันเองอีก โดยบอกว่าวันนี้ได้รับนิมนต์ไว้ แล้วท่านก็แยกเดินไปทางหลังวัด ชั่วครู่ใหญ่ ๆ ท่านก็กลับ เมื่อพระลูกวัดกลับก็ตั้งวงฉันร่วมกันเช่นปกติ คราวนี้ในบาตรของหลวงปู่มีข้าวและอาหารอื่นดีๆ ทั้งนั้นเต็มบาตรมาอีก พระลูกวัดถามท่านอีกว่าไปบ้านใครมา คราวนี้ท่านก็ตอบหน้าตาเฉยอีกว่า วันนี้พวกรุกขเทวดาที่สถิตย์อยู่แถวชายป่าข้าง หลังมณฑป มานิมนต์ไปรับบาตร

    ศพของหลวงปู่ไม่เน่าเปื่อย

    มีเรื่องของหลวงปู่ในหนังสือเรื่องพระเครื่องของหลวงพ่อปาน โดยคุณบุรี รัตนา ตอนหนึ่งอ้างว่าหลังจากที่หลวงปู่มรณภาพแล้ว ทางวัดได้เก็บศพของท่านไว้ระยะหนึ่ง จึงได้ทำพิธีถวายเพลิงศพของท่าน เมื่อสัปเหร่อเปิดหีบศพเพื่อประกอบพิธีกรรมตามประเพณี ปรากฏว่าศพของหลวงปู่ไม่เน่าเปื่อยและไม่มีกลิ่นเหม็น หลวงพ่อปานซึ่งท่าน ได้มาช่วยงานในฐานะศิษย์ ได้ขอให้ทางวัดเก็บศพของหลวงปู่ไว้ให้สานุศิษย์ได้สักการะบูชา แต่บรรดาคณะกรรมการวัดได้ปฏิเสธท่าน โดยอ้างว่าได้เตรียมการถวายเพลิงไว้แล้ว และแขกเหรื่อก็มากันเต็มวัดแล้ว จำเป็นต้องดำเนินการไปตามกำหนดการเดิม เล่ากันว่าหลวงพ่อปานเสียใจมากที่คนพวกนั้นไม่ฟังคำทักท้วงของท่าน เราท่านลองคิดดูซิว่าถ้าศพของหลวงปู่ถูกเก็บรักษาอยู่ถึงวันนี้ วัดน้อยจะมีสภาพเช่นทุกวันนี้หรือไม่ก็เหลือที่จะเดาได้

     

    ดอกเทียนตกจากท้องฟ้าวันถวายเพลิงศพหลวงปู่

    เรื่องนี้เล่าโดยป้าทรัพย์อีก โดยบอกว่าฟังมาจากคุณแม่ของท่าน ว่างานถวายเพลิงศพหลวงปู่นั้นเป็นงานใหญ่มาก ลูกศิษย์ลูกหามากันเป็นร้อยเป็นพัน มีทั้งพวกเจ้านายขุนนางชั้นผู้ใหญ่จากบางกอก และหัวเมืองใกล้เคียง พวกพระเถรานุเถระ-พระเกจิอาจารย์ดัง ๆ ทั้งที่เป็นสหธรรมิกและศิษยานุศิษย์ของท่าน หน้าวัดคลาคล่ำไปด้วยเรือเมล์ เรือพาย เรือแจว บนศาลาวัดมีวงระนาด วงดังของบางปลาม้า สองวงประชันกัน ตกกลางคืนมีมหรสพฉลองกระดูกครึกครื้นเหมือนงานประจำปี เวลาถวายเพลิงศพท่านนั้นวันนั้นท้องฟ้ามืดครึ้มทั้ง ๆ ที่เป็นกลางฤดูร้อน ครั้นได้เวลาถวายเพลิงยังไม่ทันที่คนสุดท้ายจะลงจากเมรุ ฝนก็โปรยปรายลงมา แต่ก็ไม่มากนักพอได้เปียกเย็นหัวกันเท่านั้น แต่ที่อัศจรรย์ที่สุดก็คือ พวกที่จะลงเรือกลับบ้านได้เห็นว่าที่ท้องน้ำหน้าวัด มีดอกเทียนแบบที่หยดลงในขันน้ำมนต์ลอยเกลื่อนไปหมด ผู้คนที่เห็นพากันเอะอะลอยเรือแย่งกันเก็บดอกเทียนเป็นโกลาหล ป้าทรัพย์เล่าว่าขณะนี้ดอกเทียนที่ว่านั้นยังอยู่บนหิ้งบูชาของลูกหลานของคนบางคนที่เก็บได้มาในวันนั้น แกเล่าต่อว่าพอศพท่านไหม้หมด เถ้าถ่านและเศษกระดูกของหลวงปู่ที่ไหม้ไม่หมดบนเชิงตะกอนยังไม่ทันจะเย็น สัปเหร่อก็ยังไม่ทันจะขึ้นไปทำพิธีเก็บอัฐิของท่าน พวกลูกศิษย์ลูกหาก็เฮโลขึ้นไปแย่งอัฐิที่ยังหลงเหลือบนเชิงตะกอนกันคนละชิ้นสองชิ้น บ้างก็เอาเข้าปากเคี้ยวกลืนกินจนหมดสิ้น ฉะนั้นส่วนที่เหลือบรรจุอยู่ในสถูปของท่านขณะนี้ก็คือเถ้าถ่านไม้ฟืนและอังคารธาตุของท่านเท่านั้น

    ได้ยินชาวบ้านแถวนั้นคนหนึ่งยืนคุยกับคนต่างถิ่นที่แวะมากราบหลวงปู่ว่า อภินิหารของหลวงปู่นั้นน่าทึ่งนัก ที่โคนมะขามใหญ่มีกิ่งมะขามขนาดโตกว่าโคนขา ยาวหลายวากองอยู่ข้าง ๆ แกเล่าว่ากิ่งมะขามกิ่งนี้ปกติเคยแผ่ออกไปอยู่เหนือหลังคาศาลา อยู่ ๆ มาเกิดแห้งไปเฉย ๆ ทุกคนมีแต่ความวิตกว่าไม่วันหนึ่งวันใด ถ้ามันผุและหักลงมา หลังคาศาลาต้องพังเป็นแถบแน่ ๆ คิดจะตัดออกก่อนที่มันจะผุและหักลงมา ก็ยังไม่ได้ทำ ทุกคนได้แต่ภาวนาในใจขอบารมีหลวงปู่ช่วยให้กิ่งมะขามใหญ่ อย่าเพิ่งหักลงมาเลย เพราะหลังคาต้องพังแน่ๆ และแล้ววันนั้นก็มาถึง คืนหนึ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีพายุพัดมาทำให้กิ่งมะขามกิ่งมหึมานั้นหักลงมา เช้าของวันรุ่งขึ้นทุกคนต้องเกิดอาการขนหัวลุก เห็นกิ่งมะขามใหญ่ลงมากองอยู่กับพื้นดิน แต่กระเบื้องหลังคาศาลาที่ว่าไม่มีแตกแม้แต่แผ่นเดียว และทุกคนก็ไม่รู้ว่ามันหักท่าไหนจึงไม่โดนหลังคา

    Read more
  • ๑. พระบูชา พระบูชา บูรพาจารย์ พระบูชาบูรพาจารย์-โชว์

    พระบูชา7นิ้ว หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ

    หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านเป็นพระอาจารย์องค์แรกของหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค ที่สอนกรรมฐาน สอนวิชาความรู้ทุกอย่างให้หลวงปู่ปาน ซึ่งวิชาความรู้เหล่านี้…หลวงปู่ปานท่านก็ได้ถ่ายทอดมายังหลวงพ่ออีกที ซึ่งถือว่าหลวงพ่อสุ่นเป็นบูรพาจารย์ของหลวงพ่อด้วย

    ******************************************************

    หลวงพ่อสุ่น เป็นพระวิปัสสนากรรมฐานผู้ทรงอภิญญา  มีวิชาอาคมไสยเวทย์เปี่ยมล้น นอกจากนี้ยังเป็นพระหมอรักษาไข้ ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่สาธุชนทั่วไปอีกด้วย  ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อสุ่น ที่ปรากฏและเล่าสืบต่อกันมามีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน หลวงพ่อได้บันทึกไว้ว่า  “หลวงพ่อสุ่นเป็นพระอุปัชฌาย์หลวงพ่อปาน  ครั้นหลวงพ่อปานบวชแล้วก็ไปจำพรรษาอยู่กับหลวงพ่อสุ่น ที่วัดบางปลาหมอ  เพื่อศึกษาเล่าเรียนวิชาอาคมต่างๆจากพระอาจารย์ ซึ่งหลวงพ่อสุ่นเองก็รักใคร่ในตัวของหลวงพ่อปาน  ถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆให้” หลวงพ่อปานนั้นมีความรักอยากจะเรียนทางหมอรักษาคนไข้  แต่หลวงพ่อสุ่นอยากให้ศิษย์รักรับวิชาอาคมต่างๆเอาไว้ด้วย  ดังนั้นการเรียนการสอนจึงมีทั้งไสยเวทย์และทางหมอยาควบคู่กันไปด้วย

    หลวงพ่อสุ่นท่านสำเร็จทางด้านกสิณ ท่านก็ให้หลวงพ่อปานเรียนกสิณให้เรียนทางวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งหลวงพ่อปานท่านก็ตั้งใจมานะศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆ จากพระอาจารย์จนสำเร็จอภิญญาได้กสิณต่างๆจนครบ ทั้งวิปัสสนากรรมฐานท่านก็ได้มา การเรียนวิชาของหลวงพ่อปานใหม่ๆนั้น หลวงพ่อสุ่นท่านได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ไว้ให้ปรากฏหลายอย่างเช่น วันหนึ่งหลวงพ่อสุ่นท่านให้หลวงพ่อปานรดน้ำมนต์ให้คนไข้  หลวงพ่อปานเห็นน้ำมนต์ในตุ่มเหลือน้อยแล้ว ก็จะไปตักน้ำมาทำน้ำมนต์เพิ่มอีก หลวงพ่อสุ่ท่านก็ห้ามไว้ท่านบอกว่า “ไม่ต้องไปตักหรอกปานเอ๊ย พ่อตักไว้ให้แล้วรดไปเถอะ”

    หลวงพ่อปานตักน้ำมนต์ในตุ่มรดคนไข้ ซึ่งหลวงพ่อปานเองมาเล่าให้ฟังภายหลังว่า วันนั้นรดน้ำมนต์ให้กับคนไข้ประมาณ 50 คน น้ำในตุ่มยังยุบไม่ถึงคืบ ตุ่มนั้นก็เป็นตุ่มเล็กๆ พอตอนหลังท่านไปถามหลวงพ่อสุ่นก็ได้รับคำ ตอบว่า “พ่อเอาใจตักแล้ว” จากนั้นท่านก็สอนวิชาใช้คาถาตักน้ำให้หลวงพ่อปาน ก็คือวิชาอาโปกสิณนั่นเอง

    หลวงพ่อสุ่นเป็นพระที่มีวิชาอาคมสูงมาก ท่านจะตรวจดูด้วยญาณทิพย์ของท่านเสมอ ก่อนที่จะรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แล้วก็รักษาตามโรคนั้น  ผู้ป่วยที่มาให้หลวงพ่อรักษาจะหายกลับไปทุกราย ยกเว้นผู้นั้นไปไม่ไหวถึงฆาตจริงๆ ก็ช่วยไม่ได้  ในเรื่องของอิทธิฤทธิ์ต่างๆ นั้น ท่านมักจะไม่ทำให้ผู้ใดเห็นเกรงว่าจะกลายเป็นพระผู้อวดคุณวิเศษไป  นอกจากหลวงพ่อปานที่ขณะเรียนวิชาอยู่กับท่านเท่านั้น  หลวงพ่อสุ่นอยู่วัดท่านก็ทำนุบำรุงซ่อมแซมเสนาสนะต่างๆ ไปเรื่อยๆ ต่อเติมสิ่งที่ชำรุดไปทีละอย่างสองอย่างตลอด

    Read more