พระบูชา5นิ้ว หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก

ท่านเป็นพระสหายธรรมของหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค และเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อ

*********************************************

 

หลวงพ่อจง  พุทธัสสโร  ท่านมีนามเดิมว่า “จง”  กำเนิดมาในตระกูลชาวนาในท้องที่ตำบลหน้าไม้  อำเภอบางไทร  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เรียกว่าเป็นเชื้อสายแห่งคนดีศรีอยุธยาอีกคนหนึ่ง  ที่ทั่วสรรพางค์กายล้วนเต็มเปี่ยมด้วยเลือดนักสู้  สมชาติชายไทย  บิดาท่านมีนามว่า นายยอด  มารดานามว่า  นางขลิบ  ซึ่งท่านทั้งสองมีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งสิ้น 3 คน คือ

1. เด็กชายจง  ต่อมาคือ  หลวงพ่อจง  พุทธัสสโร  เป็นบุตรคนโต
2. เด็กชายนิล  เป็นคนรอง  ต่อมาคือพระอธิการนิล  เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน
3.  เด็กหญิงปลิก  เป็นน้องคนเล็ก และเป็นผู้หญิงคนเดียว
สำหรับวันเดือนปีเกิดหรือวันถือกำเนิดของหลวงพ่อจง  พุทธัสสโร นั้น เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ล่วงเลยผ่านพ้นมานาน  อีกทั้งการบันทึกก็มิได้มีหลักฐานที่เด่นชัด  เป็นแต่ระบุไว้พอรู้ความว่า  ได้กำเนิดในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี  ณ  วันพฤหัสบดี เดือน 4 ปีวอก  อันเป็นวันขึ้น 8 ค่ำ ที่ตรงกับวันที่ 6 เดือนมีนาคม พ.ศ.2415  และด้วยเวลานั้นยังไม่มีการใช้ชื่อสกุล  จึงไม่มีการระบุชื่อนามสกุลเดิมของท่านไว้

วัยเยาว์

เด็กชายจง  บุตรชายคนโตของคุณพ่อยอด  คุณแม่ขลิบ  เมื่อกำเนิดลืมตาดูโลกแล้ว  ได้รับการเลี้ยงดูตามฐานะแห่งตระกูล  เช่นลูกหลานชาวท้องทุ่งท้องนาทั้งหลาย  มิได้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีลักษณะพิเศษเกินกว่าเด็กชาวนาคนอื่น ๆ เลยแม้แต่น้อย หรือแม้แต่อากัปกริยาที่จะแสดงอาการส่อแววว่า  ในโอกาสต่อมาเมื่อเติบใหญ่แล้ว  ชีวิตจะต้องก้าวเข้ามาสู่ฐานะภิกษุสงฆ์  อันเป็นที่เคารพบูชาของมวลชนทั้งหลาย  ดังที่ปรากฎเป็นเกียรติคุณเป็นที่ล่ำลือกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

แต่ทว่าชีวิตในวัยเยาว์ของหลวงพ่อจง หรือเด็กชายจงในเวลานั้น  กลับปกปิดความเป็นคนเหนือคนสามัญทั้งหลายไว้อย่างมิดชิดแนบแน่น  ด้วยการอยู่ในฐานะเช่นผู้อาภัพอับโชค  อุดมไปด้วยทุกขโรคามากกว่าชีวิตที่เป็นสุข มีความร่าเริงเบิกบานตามวิสัยเด็กทั้งหลายโดยทั่วไป ด้วยการที่เด็กชายจง  ถูกโรคาพยาธิเบียดเบียนมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย  จึงทำให้รูปร่างหน้าตาในสมัยเป็นเด็กค่อนข้างจะผอมโซ  หน้าตาซีดเซียว  ร่างกายไม่แข็งแรงดังเช่นลูกชาวนาทั้งหลาย  ซ้ำยังมีอุปนิสัยค่อนข้างจะขี้อาย เซื่องซึม ขาดความกระตือรือร้น ชอบเก็บตัวอยู่ตามลำพัง  ลักษณะดังเป็นเช่นเด็กทุพพลภาพ ที่ร้ายไปกว่านั้น  เด็กชายจงยังถูกเคราะห์กรรมซ้ำเติมให้มีอาการหูอื้อจนเกือบหนวก  รับฟังเสียงอะไรต่างไม่ถนัดชัดเจน  นัยน์ตามืดมัว ฝ้าฟาง มองอะไรไม่ชัดเจน ทำให้อากัปกริยาการเคลื่อนไหวไปมาพลอยเชื่อช้าแบบเก้ ๆ กัง ๆไปด้วย และเป็นคนพูดน้อย  ชนิดถามคำก็ตอบคำ  หรือไม่ยอมพูดเอาเสียเลยก็มี  เหล่านี้คือบุคคลิกภาพในสมัยเยาว์วัยของเด็กชายจง

เป็นเช่นยามเฝ้าบ้าน

จากบุคคลิกภาพดังกล่าวมาของเด็กชายจง  ผสมกับสุขภาพที่ไม่สู้จะสมบูรณ์นัก  วัยเยาว์อันควรเป็นวัยที่แจ่มใสสดชื่น จึงเต็มไปด้วยความออดแอดขี้โรค ยิ่งเติบโตจากอายุ 8 ขวบ ไปแล้ว  อาการต่าง ๆ เหล่านั้นก็ยิ่งแสดงทีท่าว่าจะกำเริบหนัก  เลยทำท่าว่าจะไปไหนมาไหนโดยลำพังไม่ได้เสียเลย เขาว่าคืนนี้มีลิเกสนุกอยากจะไปดู ก็ต้องให้ญาติพี่น้องจูงไม้จูงมือไต่เต้าตามหัวคันนา  บุกน้ำท่องโคลน เดินเดาสุ่มตามหลังคนอื่นไป พอไปถึงแล้วถึงเวลาลิเกเล่น มองเห็นตัวลิเกมั่งไม่เห็นมั่งไปตามเรื่อง  เพราะสายตาไม่ดี  และมักจะหลบฝูงชนออกไปซุ่มดูอยู่ห่าง ๆ ตามโคนต้นไม้ห่างจากผู้คนอื่น ๆ ไม่นิยมการไปรวมกลุ่มอยู่กับใคร ๆ

การไปดูลิเกของเด็กชายจง  จะว่าเป็นการหาความบันเทิงจากการฟังเสียง ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็เพราะนอกจากตาไม่แจ่มใสแล้ว หูก็ยังไม่สามารถฟังเสียงอะไรได้ถนัดอีกด้วย  เสียงกลอง เสียงปี่ พิณพาทย์ เครื่องเสียงประกอบการแสดงของลิเก ถึงฟังได้ก็ไม่ตลอด แบบได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง  เอาเรื่องเอาราวอะไรไม่ได้ สรุปแล้ว การไปดูลิเกของเด็กชายจงจึงมีค่าเท่ากัน  จะไปหรือไม่ไปดูก็ไม่มีอะไรต่างกัน  ฉะนั้น เมื่อมีผู้ถามว่า “ไง…ไปดูลิเกสนุกไหม”  คำตอบก็คือ หัวเราะ  หึ หึ ครั้นถูกถามว่าลิเกเล่นเรื่องอะไร คำตอบก็เช่นกันคือเพียงหัวเราะ หึ หึ  มีเหมือนกันเมื่อถูกรุกถามหนัก ๆ เข้าจึงตอบเป็นคำพูดสักคำว่า”อือม์…สนุก”และนั่นก็เป็นคำตอบที่ยาวที่สุด นาน ๆ ครั้งจึงจะมีผู้ได้ยินคำตอบอย่างนี้สักครั้งหนึ่ง  แต่จะมีเฉพาะกรณีถูกรุมเร้าหรือถูกรุมหนักเท่านั้น

ดังนั้นต่อ ๆ มา ลิกงลิเกหรืองานวัดอะไรต่างก็ไม่มีโอกาสได้ดูกับใครอื่นเขา เพราะคนที่จะพาจูงไปคร้านที่จะเอาธุระ  ซึ่งจะเพิ่มภาระให้เกิดแก่ตนเอง ในที่สุดเด็กชายจงจึงได้รับมอบหมายหน้าที่ใหม่ให้เป็นพิเศษ คือเป็นยามเฝ้าบ้าน  ใครเขาจะไปไหนมาไหนก็ตามแต่  เด็กชายจงเป็นได้เฝ้าบ้านทุกครั้ง  แต่ก็มีอยู่ประการหนึ่งที่เด็กชายจงไม่ยินยอมเป็นยามเฝ้าบ้านให้เป็นเด็ดขาด  คือในเวลาที่มีการทำบุญตักบาตร  การไปวัดในวันธรรมสวนะ  เด็กชายจงเป็นต้องรบเร้าขอร้องให้พ่อแม่ ญาติพี่น้อง พาตนไปด้วยให้จงได้  ซึ่งถ้าถูกปฏิเสธห้ามปราม  เขาจะคร่ำครวญร่ำไห้แสดงความทุกข์ออกมาให้เห็นอย่างน่าสงสาร จึงเป็นอันว่า เด็กชายจงจะได้ออกนอกบ้านก็เฉพาะแต่การไปทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม ตามโอกาสงานบุญเท่านั้น

เข้าวัด….อยู่วัด

ชีวิตของหลวงพ่อจง  พุทธัสสโรในวัยเด็กไม่มีสิ่งใดผันแปร คงเป็นไปอยู่เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ ราบเรียบดังเช่นน้ำในอ่างดังเช่นที่กล่าวมาแต่ต้น  จนกระทั่งอายุได้  12  ปี ความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้น  คือทางพ่อแม่มีความเห็นถึงอุปนิสัยของเด็กชายจง  บุตรชายคนโตตรงกันว่า  เป็นผู้มีความชอบวัด ติดวัด รักชอบในอันที่จะไปวัดมากกว่าที่เที่ยวเตร่หาความสนุกในที่ใด ๆ ทั้งหมด

ดังนั้น  ท่านจึงสรุปความตรงกันว่า  เมื่อเด็กชายจงชอบวัด ต้องการจะไปวัดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  แทนที่ตนหรือคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องลำบากจูงมือนำพาลัดเลาะคันนา ถึงแม้จะไม่ห่างไกลเท่าใดนักก็ตามเถิด  แต่เมื่อต้องทำอยู่ทุกบ่อย ก็ให้เกิดความคิดว่าน่าที่จะให้ไปอยู่วัดเสียเลย คิดเห็นตรงกันดังนั้นแล้ว  จึงได้เผยความคิดเห็นดังกล่าวให้เจ้าตัว  คือเด็กชายจงได้รับรู้ด้วย  แทนที่จะคิดเสียใจน้อยใจในทำนองที่ว่า พ่อแม่จะตัดหางปล่อยวัดหรือเลยเถิดไปถึงว่าพ่อแม่สิ้นรักสิ้นเมตตาตนแล้ว  กลับเป็นความปลื้มปิติใจเป็นอย่างยิ่ง  เพราะวัดเป็นที่ร่มเย็น เป็นที่ปรารถนาของตนอยู่แล้ว  เด็กชายจงจึงรับคำพ่อแม่อย่างเต็มอกเต็มใจไม่มีอิดออด เวลาต่อมา เด็กชายจงจึงได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดหน้าต่างใน  อันเป็นวัดใกล้บ้าน ที่เด็กชายจงเคยไปมาหาสู่อยู่เสมอนั่นเอง  และนับเป็นเรื่องแปลกประหลาดมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง  ตั้งแต่ได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว  โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รวมทั้งโรคหูอื้อ ตาฝ้าฟาง ที่เป็นเรื้อรังมานานปีกลับหายไปจนหมดสิ้น สามเณรจงกลับมีสุขภาพสมบูรณ์พลานามัยดีมาก  เป็นสุขอยู่ในเพศพรหมจรรย์  ดุจเป็นนิมิตให้ทราบว่า  ท่านจะต้องครองเพศมีชีวิตอยู่ใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ไปตลอดชีวิต  สมดังพุทธอุทานที่ว่า….สาธุ โข ปพพฺชชา…การบรรพชายังประโยชน์ให้สำเร็จ

ดังนั้น  เมื่ออายุครบอุปสมบทในปี พ.ศ.2435  โยมบิดามารดาจึงจัดพิธีอุปสมบทให้ได้เป็นพระภิกษุต่อไป  ณ พัทธสีมาวัดหน้าต่างในที่พำนักอยู่ โดยมี พระอุปัชฌาย์สุ่น (หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ)  เจ้าอาวาสวัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อินทร์  เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอก  เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารโพธิ์  เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน  เป็นพระอนุสาวนาจารย์ จากพิธีอุปสมบทในครั้งนั้น  พระภิกษุจงได้รับสมญานามตามเพศภาวะว่า “พุทธัสสโรภิกขุ”  และพำนักเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย  ตลอดจนวิชาการต่าง ๆ ที่พระภิกษุพึงจะต้องเรียนรู้เท่าที่มีอยู่ในสมัยนั้น ณ วัดหน้าต่างในนั่นเอง

เรียนวิชาอาคม

ชีวิตของหลวงพ่อจง  หลังจากที่ได้อุปสมบทแล้ว  ได้ปรากฎเหตุอันน่าแปลกมหัศจรรย์เด่นชัดขึ้น  เพราะนอกจากจะหายป่วยหายไข้แล้ว  เมื่อได้มาศึกษาหาความรู้ในด้านธรรมะ คือได้ศึกษาพระปริยัติธรรมและธรรมสิกขา  พร้อมทั้งฝึกฝนในด้านการเขียนอ่านอักษรทั้งไทยและขอมจากท่านพระอาจารโพธิ์  เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน  ซึ่งเป็นพระอนุสาวนาจารย์

พระภิกษุจงได้แสดงออกถึงความในอัจฉริยะ  ด้วยการเรียนรู้จดจำสิ่งที่ได้รับถ่ายทอดมาอย่างแม่นยำและเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง  จนใคร ๆ ทั้งหลายที่รู้พื้นความเป็นมาต่างพากันอดแปลกใจสงสัยเสียมิได้ว่า “เอ๊ะ..ทำไมภิกษุจงจึงมิยักงมโข่งหรืออุ้ยอ้ายอับปัญญา  เหมือนกับบุคลิกที่อ่อนแออมโรค  ที่ส่อแสดงว่าน่าจะเป็นไปในทางทึบหรืออับ เรียนรู้จดจำอะไรไม่แม่นยำ” และยิ่งเพิ่มความแปลกมหัศจรรย์แปลกไกลไปกว่านั้น  ภายหลังจากที่ได้กระจ่างแจ้งในพระธรรมและภาษาหนังสือพอสมควรแล้ว  พระอาจารย์โพธิ์ที่เล็งเห็นแววว่าน่าจะเป็นไปได้ของพระภิกษุจง  ได้ให้การถ่ายทอดวิชาในด้านเวทวิทยาคมที่ท่านเชี่ยวชาญจนเป็นที่เลื่องลือ  ถือกันว่า พระอาจารย์โพธิ์คือยอดแห่งผู้ทรงเวทในสมัยนั้นให้กับพระภิกษุจงด้วย ผลก็ปรากฎว่า พระภิกษุจงสามารถน้อมรับวิชาไว้ได้ทุกกระบวนมนต์ สำเร็จแตกฉานชนิดสิ้นภูมิผู้เป็นอาจารย์กันเลยทีเดียว  และด้วยการได้รับถ่ายทอดวิชาให้ชนิดไม่มีการปิดบังซ่อนเร้นภูมิรู้ใดไว้ของพระอาจารโพธิ์  จึงทำให้พระภิกษุจงได้ก้าวเข้ามาทำหน้าที่เป็นที่รวมใจ  ที่พึ่งพิงของญาติโยมแทนผู้เป็นอาจารย์ในเวลาต่อมา

ฝึกกรรมฐาน

การแสวงหาความรู้ของพระภิกษุจง  มิได้หยุดยั้งอยู่แต่เพียงภายในวัดหน้าต่างในที่พักอาศัยเท่านั้น  เมื่อเจนจบในภูมิความรู้ของพระอาจารย์โพธิ์ผู้เป็นอาจารย์แล้ว  ท่านยังคงเสาะแสวงหาที่เรียนต่อไปอีก  ได้รู้ได้ทราบข่าวว่าที่หนึ่งที่ใด สำนักไหนมีครูบาอาจารย์ที่ทรงภูมืความรู้  จะเป็นวิชาแขนงใดก็ดี หากเห็นว่าไม่ขัดฝืนต่อธรรมวินัย เป็นวิชาที่เอื้อต่อการพัฒนาจิตใจของตน  พระภิกษุจงเป็นไม่ลดละที่จะหาทางไปฝากตนเป็นศิษย์เรียนวิชาด้วย หนทางที่ไกลแสนไกล ระหว่างทางล้วนมีแต่ความยากลำบากต้องฝ่าฟันในอุปสรรคและเสี่ยงต่อภยันตรายนานาสารพัดอย่าง  มิใช่สิ่งที่จะหยุดยั้งเปลี่ยนวิถีความตั้งใจในการเรียนรู้หาวิชาของภิกษุจงได้  สองเท้าท่านคงย่ำไปจนถึงทุกสำนัก แล้วก็กลับคืนมาพร้อมความสำเร็จทุกแขนงวิชาแห่งสำนักนั้น ๆ ทุกครั้งคราวไป อย่างเช่นการไปเรียนวิชาฝ่ายกรรมฐาน กับพระอาจารย์หลวงพ่อปั้น วัดพิกุล ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง  เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า  ท่านเป็นพระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสีผู้ยิ่งใหญ่ที่แตกฉานในสมถะวิปัสสนากรรมฐานท่านหนึ่งในยุคสมัยนั้น พระภิกษุจงได้ไปฝากตัวหมั่นศึกษาพากเพียรเรียนวิชาด้วยอิทธิบาทที่แก่กล้าเป็นเวลาช้านาน  จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับในภูมิธรรมจากผู้เป็นอาจารย์  จึงได้เดินทางกลับสู่วัดหน้าต่างใน

เป็นเจ้าอาวาส

ในขณะที่พระภิกษุจง ยังคงพำนักอยู่กับผู้เป็นอาจารย์ คือท่านพระอาจารย์โพธิ์ ที่วัดหน้าต่างใน  ซึ่งมีบ้านเป็นครั้งเป็นคราวที่ท่านขออนุญาตจากผู้เป็นพระอาจารย์ ไปเรียนวิชายังสำนักอื่น แต่เมื่อเจนจบหลักสูตร เป็นต้องกลับคืนสู่วัดหน้าต่างในต้นสังกัด ทุกครั้งไป แม้ว่าเวลานั้น ท่นจะยังคงอยู่ในฐานะพระลูกวัดศิษย์เจ้าอาวาสท่านพระอาจารย์โพธิ์  แต่ชีวิตแห่งการบวชเข้ามาอยู่ในเพศบรรพชิตของพระภิกษุจงก็นับได้ว่า เป็นชีวิตที่ได้รับความสำเร็จผลสมความตั้งใจ  เป็นผู้รู้พระปริยัติธรรมตามฐานานุรูป  และการปฏิบัติกรรมฐานทำความเข้าใจในพระธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เพื่อใช้ปฏิบัติจิตให้บังเกิดความสงบสุขและบรรลุเข้าสู่วิถีแห่งความพ้นทุกข์  ตลอดจนเป็นผู้รอบรู้เจนจบในทางเวทย์วิทยาคม  ซึ่งมีพระอาจารย์โพธิ์เป็นปฐมพระอาจารย์ประสาทวิชาให้ วิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา  นอกจากจะยังประโยชน์ให้บังเกิดเป็นความสุขสงบเย็นเฉพาะตนแล้ว  ยังสามารถใช้เป็นเครื่องกล่อมเกลาบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้อื่นตามควรแก่ฐานานุรูป  ตามด้วยความเหมาะควรแก่กาละเทศะต่อปวงชนทั้งหลาย ทั้งทางกายและทางใจด้วย

ด้วยภูมิธรรมความรู้ อันเกิดจากความวิริยะพากเพียรที่หนุนเนื่องด้วยบุญบารมีเดิม  จึงทำให้ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาของญาติโยมปวงชนทั้งหลาย  ซึ่งนับวันก็แต่จะมีจิตศรัทธาเลื่อมใสมากยิ่ง ๆ ขึ้น  ฉะนั้น ต่อมาเมื่อหลวงพ่ออินทร์สิ้นบุญในอันที่จะครองเพศเป็นภิกษุ  ทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกได้ต่อไป  ทำให้หน้าที่การดูแลวัดปกครองสงฆ์ของวัดหน้าต่างนอกว่างลง  ซึ่งจำต้องรีบหาและแต่งตั้งเป็นการด่วน ในความคิดความเห็นของบรรดาศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย  ต่างเห็นพ้องต้องกันอย่างไม่มีการนัดแนะมาก่อนว่า  พระภิกษุจง  พุทธัสสโร ศิษย์ของท่านพระอาจารย์โพธิ์ วัดหน้าต่างใน  เพราะสมกว่าใครอื่นทั้งหมด ด้วยความเห็นนั้น  จึงได้ชักชวนกันไปหาท่านพระอาจารย์โพธิ์เพื่อขอพระภิกษุจงให้มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสที่วัดหน้าต่างนอก  แทนท่านพระอาจารย์อินทร์  พระอาจารโพธิ์ได้รับรู้แล้ว พิจารณาเห็นถึงความเหมาะสมหลาย ๆ ประการ  เริ่มแต่ความศรัทธาของญาติโยมชาวบ้าน  ความเหมาะสมของผู้เป็นศิษย์  จึงเห็นควรตามที่ญาติโยมเขามาขอ เมื่อศรัทธาเรียกร้อง  พระอาจารย์เห็นชอบ  พระภิกษุจงจึงมาทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกนับแต่นั้นมา

อยู่อย่างพระ

พระภิกษุจง  พุทธัสสโร  เมื่อมารับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกแล้ว  ก็ถูกขนานนามเป็น “หลวงพ่อจง”  ซึ่งเป็นการเรียกขานด้วยความเคารพเทิดทูน  ซึ่งเมื่อได้รับความเคารพบูชาเช่นนั้น  หลวงพ่อจงท่านก็ยิ่งพยายามปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดในศีลธรรมวินัย  เจริญวัตรตามฐานะที่ผู้อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพบูชาพึงจะกระทำตามสิกขาบท เฉพาะที่เกี่ยวกับชาวบ้านท่านได้สำแดงจิตอัธยาศัย  แผ่ไมตรีโอบอ้อมอารีต่อทุกบุคคลไม่เลือกหน้าว่าเป็นใคร  จะยากดีมีจนอย่างไร  หรือแม้แต่เป็นคนถ่อยชั่วจนชื่อว่าเป็นพาลชนจะเข้าหารือขอร้องให้ช่วยงานช่วยกิจธุระหรือช่วยทุกข์ หรือนิมนต์ให้ไปโปรดที่ไหน ไม่ว่าหนทางใกล้ไกลอย่างไร  ท่านเป็นยอมรับยินดีกระทำธุระปลดเปลื้องบำเพ็ญกรณีให้ผู้มาขอได้รับความสุขตามปรารถนาอยู่เสมอ  ทำตามกำลังปัญญาของท่านโดยควรแก่ฐานานุรูปและกาลเทศะด้วยความเต็มใจอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส

อากัปกิริยาของหลวงพ่อจงที่ปรากฎให้ทุกคนเห็น จะไม่มีการอำอึ้งขึ้งโกรธ แสดงความไม่ชอบใจ ไม่พอใจ หรือแม้การตั้งแง่อิดออดแต่อย่างใดเลย  ทุกคนที่ไปพบไปหาจะสัมผัสกับความเมตตา ความยิ้มแย้มยินดีทุกครั้ง หลวงพ่อจง มองคนทุกชั้นว่าเหมือนกัน  และเท่าเทียมกันโดยสภาพแห่งมนุษย์ ไม่มีชั้นวรรณะ  ท่านต้อนรับปราศรัยด้วยจิตใจวาจาและเครื่องต้อนรับอย่างเดียวกัน ไม่มีการตั้งเก้าอี้ หรือลาดพรมปูเสื่อเพื่อท่านผู้นั้น ชั้นนั้นชั้นนี้ กุฏิหลวงพ่อจงเปิดอ้าไว้ต้อนรับทุกคนตลอดเวลา  หลายคนเคยปรารภว่า  มานมัสการหลวงพ่อจงแล้วน่าเลื่อมใสจริง ๆ  ท่านเป็นพระแท้ไม่มียศ ไม่มีเกียรติ ไม่ติดอามิสใด ๆ เลย แม้กระทั่งน้ำชา หลวงพ่อเป็นบรรพชิตที่เหมาะสมแก่คนทุกชั้น  ไม่มีคำว่า “ขนาดเราไปหาท่านแล้วเข้าไม่ถึง”  โดยเด็ดขาด  ทั้งนี้เพราะหลวงพ่อจงท่านทรงคุณธรรมอันสำคัญอยู่สามประการ คือ
1.เมตตากรุณา  หลวงพ่อจงไม่เพียงแต่สอนให้ผู้อื่นมีเมตตากรุณาต่อกันเท่านั้น  แต่ตัวของหลวงพ่อเองก็มีเมตตากรุณาประจำใจด้วยอย่างสมบูรณ์  ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสกับทุกคน  ไม่เคยเห็นท่านแสดงท่าทางโกรธเคืองผู้ใด ไม่ว่าเวลาไหน  ใครมาหาท่านต้องการสิ่งใดท่านจะรีบทำให้ด้วยความเต็มใจและว่องไว  บางครั้งแขกมาหาเป็นเวลาที่ท่านจำวัดแล้ว  หลวงพ่อจงท่านยังรีบลุกจากที่จำวัดมาสงเคราะห์ให้จนสำเร็จประโยชน์
2.  อธิวาสนขันติ หลวงพ่อจงท่านรับแขกตลอดเวลา  ทุกเมื่อเชื่อวัน อดทนต่อความเมื่อยล้า  ไม่เคยแสดงอาการเหน็ดเหนื่อยให้เห็นเลย
3.  ปริจจาคะ  หลวงพ่อจงท่านบริจาคทุกอย่างไม่ว่าสิ่งใด ใครขออะไรแม้กระทั่งย่ามที่ท่านถืออยู่  ท่านยินดีมอบให้ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส คุณธรรมสามประการนี้  เป็นวิหารธรรมที่หลวงพ่อจงท่านสร้างสมอยู่ชั่วชีวิตท่าน

เป็นพระทองคำ

หลวงพ่อจง เป็นพระเถราจารย์ที่มีวิทยาคมแก่กล้า ได้รับการถ่ายทอดวิทยาคมจาก หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล และหลวงพ่อปั้น วัดพิกุล อยุธยา พระอาจารย์ทั้งสองท่านนี้  ก็เป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เช่นกัน หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก เป็นสหายธรรมสนิทสนมกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เป็นอันมาก  เนื่องจากมีพระอุปัชฌาย์องค์เดียวกัน  นัยว่าสองหลวงพ่อนี้เป็นศิษย์สำนักเดียวกัน  จึงมีความสนิทสนมและต่างฝ่ายต่างเคารพนับถือธรรมปฏิบัติของกันและกันมากเป็นพิเศษ

หลวงพ่อปาน มีสังฆกิจอย่างไร  ต้องนิมนต์หลวงพ่อจงไปในพิธีเสมอ  หลวงพ่อจงมีสังฆกิจเช่นไรก็จะต้องนิมนต์หลวงพ่อปานไปร่วมพิธีทุกครั้ง  หลวงพ่อปาน ท่านมักพูดแก่ศิษย์ของท่านเองว่า  พระอย่างหลวงพ่อจงนั้น เป็นทองคำทั้งองค์  พระขนาดนี้อย่า ไปขออะไรท่านนะ   จะเป็นบาปหนัก  เพราะแม้เทพยดาชั้นสูง ๆ ยังต้องขอเป็นโยมอุปัฎฐากเลย ด้วยเหตุนี้  ลูกศิษย์ของหลวงพ่อปานจึงเคารพนับถือหลวงพ่อจงมาก  และท่านยังสั่งว่า  “ถ้าฉันไม่อยู่ติดขัดเรื่องธรรมะ ให้ไปถามท่านจงนะ  ท่านจงนี้น่ะ ท่านสอนเทวดามาแล้ว  ถ้าเธอไปเรียนกับท่านจงได้  ก็นับว่าเป็นบุญของเธอ”

ปฏิบัติเป็นกิจ

กิจวัตรประจำวันอันสำคัญที่หลวงพ่อจงนิยมปฏิบัติอยู่เสมอ คือ การทำวัตรสวดมนต์ทุกเช้า  เวลาใกล้รุ่งระหว่างเวลา 04.00 น. ถึง 05.00 น. และเวลาเย็นประมาณ 18.00 น. (ถ้าไม่มีแขกมาหา)  หลวงพ่อจะต้องทำวัตรสวดมนต์เป็นประจำไม่ขาด  เว้นแต่อาพาธหรือติดกิจนิมนต์ไม่ได้อยู่วัดเท่านั้น หลังจากสวดมนต์จบแล้ว  หลวงพ่อจะเจริญกรรมฐาน อันเป็นธุระเอกของท่านอย่างสงบนิ่ง ประมาณวันละ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมงเป็นอย่างช้า  ฉะนั้น ผู้ที่เคยมาหาหลวงพ่อและรู้เวลาของท่านแล้ว เขาจะไม่รบกวนท่าน  รอจนกว่าท่านจะทำกิจเสร็จเรียบร้อย  เพราะถ้าใครไปปรากฎตัวหรือด้อม ๆ มอง ๆ ให้ท่านเห็น  หลวงพ่อจะรีบกราบพระลุกจากที่มาทันที  ด้วยความที่ท่านมีเมตตาเป็นปุเรจาริก  ปรารถนาจะสงเคราะห์ผู้อื่นให้สำเร็จประโยชน์ที่เขาต้องการ

เป็นผู้รักความสะอาด

หลังเวลาทำวัตรเช้ามืดเสร็จแล้ว  และเวลาเย็นหลวงพ่อจะถือไม้กวาดฟั่นด้วยปอยาว ๆ เดินกวาดสถานที่ต่าง ๆ เช่น ถนนหนทาง กุฏิ ศาลา เป็นต้น ไม่ว่างเว้น  ท่านมีสุขนิสัยรักความสะอาดอย่างยากที่จะหาผู้ใดมาเปรียบได้ ท่านไม่รังเกียจว่า สถานที่ท่านกวาดนั้นเป็นกุฏิของผู้ใด  ถ้าหลวงพ่อพบฝุ่นละอองที่ไหน  ท่านจะปัดกวาดให้จนสะอาดเรียบร้อยไม่เคยว่ากล่าวผู้ใดทั้งสิ้น  ใบหน้าหลวงพ่อยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา ในระยะหลัง พระอุปัฏฐากและศิษย์รับใช้ เมื่อเห็นท่านปัดกวาด ต้องรีบมาทำแทนท่าน เพราะเห็นว่าท่านชราภาพมากแล้ว  ท่านหมั่นทำความสะอาดอยู่กระทั่งถึงวาระสุดท้าย  ลุกจากที่จำวัดไม่ได้ กิจกรรมเช่นนี้ เป็นที่ควรปฏิบัติตามสำหรับอนุชนเป็นอย่างยิ่ง  เพราะสิ่งเหล่านี้มีพระพุทธภาษิตรับรองอยู่ว่า อสชฺฌายมลา  อนุตา  อนุฏฐานมลา  ฆรามลํ  วณฺณสฺสโกสชฺชํ ปมาโท รกฺขโต  มลํ ซึ่งแปลว่า เวทมนต์ที่ไม่ท่องบ่นย่อมเสื่อมคลาย เรือนทั้งหลายที่ไม่ปัดกวาดย่อมเสื่อมโทรม  ความเกียจคร้านเป็นความเศร้าหมองของผิวพรรณ  ความประมาทเป็นมลทินของผู้รักษา

ปฏิปทาน่าฉงน

การปฏิบัติอันเป็นกิจวัตรของหลวงพ่อจง  บางอย่างก็แปลก ๆ เป็นปริศนาให้ผู้พบเห็นคิดอยู่นาน  เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อกบ วัดเขาสาริกา  อำเภอบ้านหมี่  จังหวัดลพบุรี  กล่าวคือ  พอตกกลางคืนท่านจะออกมาจากกุฏิ  โดยถือไม้กวาดแล้วกวาดลานวัดไปเรื่อย ๆ  กวาดจนรอบวัดแล้วยังกวาดใหม่อยู่อย่างนี้จนดึก

หลังจากนั้นก็เดินขึ้นกุฏิไปเข้ามุ้ง  แต่ไม่ดับตะเกียง  ท่านจะนั่งสมาธิอยู่เป็นครู่ใหญ่  แล้วออกจากมุ้งมากวาดลานวัดอีก  เมื่อกวาดรอบวัดเสร็จก็จะกลับขึ้นไปเข้ามุ้งในกุฎิ  ทำสมาธิ  หลังจากนั้นก็จะออกมากวาดลานวัดเป็นคำรบสาม  เสร็จแล้วก็เข้ามุ้ง  นั่งสมาธิ เป็นครั้งสุดท้าย  จากนั้นจึงดับตะเกียงจำวัด  หลวงพ่อจงปฏิบัติธรรมของท่านเช่นนี้ตลอดมา ก่อนที่จะมรณภาพไม่นาน ลูกศิษย์ใกล้ชิดเก็บความสงสัยไว้ไม่อยู่  ได้ถามท่านว่า  ทำไมถึงชอบกวาดลานวัดตอนดึก ๆ ขณะพระลูกวัดจำวัดหมดแล้ว  ท่านตอบสั้น ๆ ว่า  “วัดสะอาด  ใจก็สะอาด  กวาดวัด แล้วกวาดใจ  ตายแล้วไม่ไปอบายภูมิ”

มักน้อยสันโดษ

หลวงพ่อจง ท่านเป็นพระที่มักน้อยสันโดษอย่างมาก  ใครมาหาท่าน ท่านก็ต้อนรับขับสู้ด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใสมีเมตตา  ใครจะนั่งอยู่ดึกดื่นค่อนคืนอย่างไร ท่านก็ยังคงต้อนรับอยู่อย่างนั้น  จนกระทั่งแขกเหรื่อหมดแล้ว ท่านจึงจะเข้ากุฏิ หลวงพ่อจง เป็นพระที่เสียสละอย่างสูง  เมตตาของท่านท่วมท้นทั้งในอาณาจักรและศาสนจักร  ในประการหลังนี้จะเห็นได้จากการที่ท่านรื้อกุฏิในวัดของท่านถวายแก่วัดที่ยากจน  ซึ่งท่านทำเช่นนี้เสมอมา  นี่คือเหตุผลที่ว่า  ทำไมวัดหน้าต่างนอกที่มีพระอาจารย์ชั้นเยี่ยมอย่างหลวงพ่อจงเป็นเจ้าอาวาส  จึงไม่ค่อยเจริญในด้านวัตถุมากนัก  ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า  พระสุปฏิปันโนเฉกเช่นหลวงพ่อจงนี้  ท่านมีแต่ขนออกแจกเขาอย่างเดียว  ไม่มีการนำเข้า มีแต่แจกออกไป  ใครถวายสิ่งใดแก่ท่าน ท่านก็นำออกมาถวายให้พระลูกวัดเป็นสังฆปัจจัยจนหมด

ในด้านสมณศักดิ์นั้นท่านก็วางเฉย  มีลูกศิษย์ที่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาปรารภกับท่านบ่อย ๆ ทำนองใคร่สนับสนุน  แต่ท่านปฏิเสธไปอย่างสุภาพและนุ่มนวลอีกว่า  “อาตมาแก่แล้ว  สังขารไม่เอื้ออำนวย  มันจะเจ็บ มันจะแก่ มันจะตาย ไปบังคับมันไม่ได้ สังขารของอาตมาจึงไม่เหลือที่จะเป็นประโยชน์แก่กิจของสงฆ์อีกแล้ว”

แม่แต่ตอนที่ท่านมรณภาพ  เงินสักเฟื้องสักสลึงก็ไม่มีติดย่าม  ย่ามของท่านนั้นเล่าก็เก่าคร่ำคร่า  ย่ามดี ๆ ท่านก็ให้แก่พระลูกวัดใช้จนหมดสิ้น  สมบัติของท่านที่เหลืออยู่ให้เราเห็นในทุกวันนี้  มีเพียงเก้าอี้โยกเก่า ๆ ตัวหนึ่ง  รูปปั้นฤาษี “พ่อแก่”  และพระพุทธรูปบูชาขนาดเล็กที่ท่านบูชาประจำองค์เดียวเท่านั้น

สร้างเพื่อรื้อถอน

กุฏิที่ท่านจำวัดก็เป็นไม้เก่า ๆ  ผุพังไปบางส่วน  เวลานี้เขาย้ายที่ไปสร้างใหม่  โดยรื้อมาประกอบทั้งหลัง  ไปดูที่วัดก็ยังได้ ถ้าใครไม่เชื่อ สมัยที่ท่านมีกิตติคุณเกรียงไกร  สามารถเอื้ออำนวยให้วัดมีสิ่งก่อสร้างถาวรวัตถุเป็นปูนเป็นอิฐ ขนาดใหญ่เท่าใดก็สามารถทำได้  แต่ท่านกลับมีอุบายอันแยบยลด้วยการรื้อถอนกุฏิบริจาคให้วัดอื่น  เพื่อสร้างนิสัยสั่งสมบุญกุศลแก่ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย

ลูกศิษย์ที่เคารพนับถือท่าน เขามีเงินเป็นเศรษฐี  ได้มาสร้างเสนาสนะและสิ่งอื่น ๆ อยู่เป็นประจำ  แต่ท่านขอให้ลูกศิษย์ทุกคนก่อสร้างให้รื้อถอนได้  กล่าวคือ  สร้างสำหรับแบบรื้อได้นั่นเอง  ไม่มีใครทราบเหตุผลว่าทำไมท่านจึงสั่งเช่นนั้น  แต่บรรดาลูกศิษยก็ไม่อาจขัดท่าน  เพราะศรัทธาในตัวท่าน  สั่งเช่นไรก็ทำไปเช่นนั้นไม่มีบิดพลิ้ว

เมื่อสร้างเสร็จและฉลองศรัทธาของญาติโยมโดยใช้อาศัยอยู่พักหนึ่ง หากมีวัดใดขัดสนท่านก็บอกให้ถอนไปตั้งที่วัดนั้นวัดนี้  เคยมีลูกศิษย์น้อยอกน้อยใจไปต่อว่าท่าน  ท่านก็ยิ้มแล้วบอกว่า  “เธอสร้างให้หลวงพ่อเป็นศรัทธาของเธอ  กุศลมีแก่เธอแล้วทุกประการ  พระสงฆ์และวัดเป็นเนื้อนาบุญ วัดไหนก็เหมือนกัน  ถ้าหลวงพ่อบอกให้เธอไปสร้างให้วัดอื่น  เธอคงไม่ยอมไป เพราะศรัทธายังไม่มี   เมื่อสร้างแล้วหลวงพ่อไปถวายวัดอื่น  บุญกุศลนั้นก็ยังเป็นของเธออย่างเต็มเปี่ยม  ขอเธอจงโมทนาเถิด”คำกล่าวของหลวงพ่อ  พระเถราจาย์ที่ยิ่งใหญ่แห่งกรุงศรีอยุธยาครั้งกระนั้น  ประดุจโอวาทที่ศิษย์รับใส่เกล้าทุกคน