ช้างพระเจ้าพรหมมหาราช กะไหล่เงิน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง
จัดสร้างโดยคุณจีระศักดิ์ พูนผล เพื่อหาทุนทรัพย์ในการจัดสร้างอนุเสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราชทรงช้างพลายประกายแก้ว ประจำ ณ วัดท่าซุง โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 9 แสนบาท และหลวงพ่อได้เมตตาเพิ่มเติมด้วยการสั่งให้ปิดทองคำแท้ทั้งองค์อีกเป็นจำนวน 250,000 บาท
พระเดชพระคุณหลวงพ่อเมตตาเททองหล่อเมื่อ วันมาฆบูชา ที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ สร้างประมาณ 300องค์เศษ ขนาดฐาน 8 x 4 1/2นิ้ว ฐานสูง 1นิ้ว ความสูงทั้งสิ้น 12นิ้ว ที่ฐานด้านหน้ามีหมายเลขประจำองค์ ส่วนที่ฐานข้างหนึ่งเขียนว่า “เททองโดย หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร วันมาฆบูชาที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ ” และอีกข้างหนึ่งเขียนว่า “พระเจ้าพรหมมหาราช ช้างประกายแก้ว กู้ชาติไทยครั้งแรกสมัยโยนก”
จัดสร้างด้วยกัน 4เนื้อ คือ
1) เนื้อชุบกะไหล่ทอง
2) เนื้อชุบกะไหล่เงิน
3) เนื้อชุบกะไหล่นาก
4) เนื้อโลหะรมดำ / เนื้อโลหะไม่รมดำ (ผิวทองแดง)
ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2527 หลวงพ่อจึงได้ทำพิธีบวงสรวงและเปิดอนุเสาวรีย์องค์พระเจ้าพรหมมหาราช เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2527 และในปัจจุบัน…ทางวัดจะจัดงานฉลองชัยชนะของพระเจ้าพรหมมหาราช ณ อนุเสาวรีย์ เป็นประจำทุกๆปีในวันก่อนหน้าวันเข้าพรรษาหนึ่งวัน โดยจะมีการบวงสรวงและเวียนเทียนรอบอนุเสาวรีย์ อีกทั้งมีการฟ้อนรำถวายองค์พระเจ้าพรหมมหาราช เพื่อเป็นการระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย
พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านได้เล่าถึงอานุภาพไว้ว่า
:- ช้างถนัดในทางปราบอมิตร พระเจ้าพรหมมหาปราบและมหาเสน่ห์ พระนางปทุมวดี (ยังไม่มีรูปปั้นที่วัด) ถนัดในทางลาภ
:- ถ้าจะบนช้างต้องเอาเลือดสดทาปาก แต่ท่านให้ใช้อาหาร ที่มีเลือดหมูต้มรวมอยู่ด้วยถวายพระแทน
:- ส่วนถ้าจะบนพระเจ้าพรหม ให้ใช้ผ้าเหลืองถวายพระ และถ้าบนพระนางปทุมวดี ให้ใช้ดอกไม้ 3สี บูชาพระถวายสังฆทาน
*******************************************************************
สำหรับองค์บูชาพระเจ้าพรหมมหาราชทรงช้างประกายแก้ว ในสมัยหลวงพ่อนั้น ท่านตั้งราคาให้ร่วมทำบุญ ดังนี้
1. เนื้อโลหะชุบทอง ทำบุญองค์ละ 3,000 บาท
2. เนื้อโลหะชุบนาก ทำบุญองค์ละ 2,500 บาท
3. เนื้อโลหะชุบเงิน ทำบุญองค์ละ 2,500 บาท
4. เนื้อโลหะรมดำ ทำบุญองค์ละ 1,500 บาท
********************************************
ประวัติ พระเจ้าพรหม มหาราชองค์แรกของไทย
หากมีการตั้งคำถามว่า กษัตริย์ที่นักประวัติศาสตร์ไทยยกย่องว่าเป็น “มหาราช” องค์แรกของไทย คือ พระองค์ใด หลายคนคงนึกถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บางคนอาจจะนึกถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือบางคนอาจนึกไปได้ไกลถึงพระเจ้ามังรายมหาราช เพราะแต่ละพระองค์ล้วนแต่ครองราชย์ในช่วงหลายร้อยปีก่อนหน้าโน้น และมีพระนามเป็นที่คุ้นหูอย่างดี แต่ความเป็นจริง พระมหากษัตริย์ไทยเราที่ทรงเป็นมหาราชองค์แรก ก็คือ “พระเจ้าพรหมมหาราช” ผู้ทรงกอบกู้อิสรภาพของชาติไทยให้รอดพ้นจากการรุกรานย่ำยีของพวกขอม เมื่อประมาณ ๑,๐๖๔ ปีล่วงมาแล้ว ในสมัยอาณาจักรโยนกหรืออำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของเวลา แต่ละตำราจะเขียนไว้ไม่เหมือนกัน ในที่นี้จะขอยึดข้อมูลจากหนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดเชียงราย ซึ่งเอา “ตำนานสิงหนวัติฉบับสอบค้น” มาเป็นหลักอ้างอิง กล่าวคือย้อนไปเมื่อ พ.ศ.๑๔๖๐ ในรัชสมัยของ พระเจ้าพังคะ หรือ พระองค์ฬั่ง กษัตริย์องค์ที่ ๔๓ แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ ได้ถูกพวกขอมขับไล่จากเมืองโยนกพันธุ์ไปอยู่เมืองเวียงสี่ตวง ใกล้แม่น้ำสาย จนกระทั่ง ๔ ปีต่อมา หรือเมื่อ พ.ศ. ๑๔๖๔ มเหสีของพระองค์ไปประสูติโอรสคนที่ ๒ มีการขนานนามว่า “พระเจ้าพรหมกุมาร”
ในตำนานได้กล่าวถึงประวัติตอนปฐมวัยของ “พระเจ้าพรหมกุมาร” เต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ เช่น เมื่อพระองค์มีพระชันษาได้๗ ปี ก็สามารถเล่าเรียนวิชาเพลงอาวุธและตำราพิชัยสงคราม จนจบครบถ้วนกระบวนความ หรือเมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ ๑๓ ปี ได้ทรงสุบินว่า มีเทพยดามาบอกว่า จะมีช้าง ๓ ตัวล่องน้ำโขงมา และให้เจ้าพรหมกุมารไปล้างหน้าที่นั่น หากจับช้างตัวแรกได้จะมีอานุภาพปราบได้ทั้ง ๔ ทวีป ถ้าจับได้ตัวที่ ๒ จะมีอานุภาพได้ชมภูทวีป ถ้าจับได้ตัวที่ ๓ จะปราบแว่นแคว้นล้านนาได้
พอรุ่งเช้า เจ้าพรหมกุมารจึงได้พาบริวารประมาณ ๕๐ คน ไปยังท่าน้ำ ครั้งแรกเห็นงูเหลือมเลื่อมเป็นมันระยับลอยผ่านไปแล้ว ๑ ตัว พอตัวที่ ๒ ก็เป็นงูอีกเหมือนกัน พอตัวที่ ๓ เจ้าพรหมกุมารจึงทรงนึกถึงเรื่องในสุบินนั้นคงเป็นงูนี่เอง จึงพร้อมกับบริวารช่วยกันจับงู เมื่อเจ้าพรหมกุมารสามารถขึ้นขี่ งูก็กลายเป็นช้างไปทันที แต่ไม่ยอมขึ้นฝั่ง จนกระทั่งบริวารต้องเอาพานทองคำตีล่อ ช้างจึงยอมขึ้นจากน้ำ และมีการเรียกชื่อว่า “ช้างพานทองคำ”
พระเจ้าพรหม ทรงมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความสามารถและโปรดในการสงคราม เมื่อสามารถเตรียมกำลังไพร่พลได้อย่างเต็มที่แล้ว ก็ทูลพระบิดาให้เลิกการส่งส่วยแก่ขอม พวกขอมจึงยกทัพขึ้นไปปราบ พระเจ้าพรหมก็คุมกำลังออกต่อสู้และขับไล่พวกขอมจนแตกพ่าย สามารถยึดเมืองโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติคืนได้เมื่อ พ.ศ.๑๔๗๙ ในขณะที่พระองค์มีพระชันษาได้เพียง ๑๖ ปีเท่านั้น
สำหรับช้างพานทองคำ เมื่อเสร็จสงครามก็ได้หายไปทางดอยลูกหนึ่ง ซึ่งต่อมาเรียกว่า “ดอยช้างงู” แต่ชาวเขาเผ่าอีก้อออกเสียงไม่ชัดเจน เรียกว่า “ดอยสะโง้” และได้เรียกเพี้ยนมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนพระเจ้าพรหม เมื่อได้อัญเชิญพระบิดามาครองเมืองโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองโยนกชัยบุรีแล้ว พระองค์ก็นำทัพไปขับไล่ขอมจนถึงเมืองกำแพงเพชร จนหมดเชื้อชาติขอมในอาณาจักรโยนกแล้วจากนั้นพระองค์ก็ได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เมืองอุมงคลเสลาเก่า เมื่อ พ.ศ. ๑๔๘๐ เพื่อเป็นด่านหน้าคอยป้องกันพวกขอมยกทัพกลับมาตีอีก และเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่เป็น “เมืองไชยปราการ” ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอชัยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ นั่นเอง
พระองค์ได้ครองเมืองไชยปราการได้ ๕๙ ปี ก็เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ.๑๕๔๐ ต่อมาได้มีการขนานนามพระองค์ว่า “พระเจ้าพรหมมหาราช” นับเป็นมหาราชองค์แรกของชาติไทย