สมเด็จองค์ปฐม รุ่น5.2 ชุดทองคำ_ก้นถ้วย (รุ่นฉลองสมณศักดิ์หลวงพ่ออนันต์ พุทธญาโณ) หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง
รุ่นนี้สร้างขึ้นในโอกาสฉลองสมณศักดิ์ พระภาวกิจวิมล (หลวงพ่ออนันต์ เจ้าอาวาสวัดท่าซุง) พุทธาภิเษกพิธีเสาร์๕ เมื่อวันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2555 ชุดทองคำ สร้างจำนวน 180ชุด เป็นงานจิวเวอร์รี่ละเอียดสวยงามมาก (งานแพรนด้า)
ใต้ฐานสำหรับเนื้อทองคำจะอุดมวลสารสำคัญต่างๆ และปั๊มยันต์ด้วยหมึกสีน้ำเงิน แต่สำหรับพระสมเด็จองค์ปฐม เนื้ออื่นๆจะไม่อุดมวลสารที่ใต้ฐาน แต่จะเป็นฐานก้นถ้วยแทน เพื่อเป็นการง่ายต่อการพูดชื่อรุ่น เราจะเรียกรุ่นนี้ว่า “สมเด็จองค์ปฐม รุ่น5.2”
หมายเหตุ: พระสมเด็จองค์ปฐม ล็อตที่2 พิมพ์ที่ช่างธานีจัดสร้าง (จัดสร้างไม่ทันเสร็จในคราวปลุกเสกที่วิหาร๑๐๐เมตร) ได้นำมาร่วมพุทธาภิเษกในวาระนี้ด้วย โดยมีจุดที่ทางวัดแยกให้เห็นข้อแตกต่างคือ ใต้ฐานจะปั๊มยันต์ด้วยหมึกสีแดง (แทนหมึกสีน้ำเงิน) ซึ่งจะเรียกรุ่นนี้ว่า “สมเด็จองค์ปฐม รุ่น5.2″ เหมือนกันกับงานแพรนด้า
********************************************************************
รายละเอียดอักขระ สมเด็จองค์ปฐมที่ระลึกฉลองสมณศักดิ์พระภาวนากิจวิมล
สลักชื่อ สมเด็จองค์ปฐม ที่ฐานด้านหน้า
ส่วนที่ฐานด้านหลัง เป็นยันต์ท่านปู่พระอินทร์
มีคาถาบารมี ๓๐ ทัศ (ย่อ)อยู่โดยรอบ ๔ ด้าน
อิติปาระมิตาติงสา อิติสัพพัญญูมาคะตา
อิติโพธิมะนุปัตโต อิติปิโสจะเตนะโม
เสาซุ้มเรือนแก้ว ด้านซ้ายเป็นยันต์ ๕ ด้านขวาเป็นยันต์เฑาะ
ใต้ฐานก้นถ้วย ด้านในพัดยศ : ปิ (ปิโยเท วะ มนุสสานัง เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย)
บรรทัดบน : พุท ธะ สัง มิ (พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณังคัจฉามิ เป็นคาถาปลุกผ้ายันต์พิชัยสงคราม)
บรรทัดล่าง : อะ สิ สะ ติ เป็นคาถาพระพุทธเจ้าห้ามอาวุธ
ซึ่งอยู่ในยันต์มหาพิชัยสงคราม เป็นบทที่พระพุทธเจ้าทรงตรัส ขณะที่เทวทัตให้นายขมังธนูมาดักยิง แต่ไม่สามารถทำอันตรายพระพุทธองค์ได้ และได้กลับมาศรัทธาเลื่อมใสในที่สุด
” อสิสัตติธนูเจวะ สัพเพเตอาวุธา นิจะ
ภัคคะภัคคาวิจณณานิ โลมังมา เม นะผุสสันติ ”
**************************************************************************************************************
ประวัติการสร้างรูปหล่อลอยองค์สมเด็จองค์ปฐมรุ่น5 ชุดทองคำ
สมเด็จองค์ปฐม รุ่น ๕ ที่ระลึกฉลองสมณศักดิ์พระภาวนากิจวิมล หลังจากหลวงพ่อพระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระครูปลัดสุวัฒนสมาธิคุณ” เป็นที่คาดการณ์กันภายในว่าตำแหน่งนี้พระผู้ใหญ่ท่านน่าจะมอบให้เพื่อรองรับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ทางคณะสงฆ์วัดท่าซุงจึงได้หารือกันและได้มีมติให้จัดสร้างพระเพื่อเป็นที่ระลึกในการรับสมณศักดิ์ครั้งนี้ โดยสร้างเป็นรูปจำลองสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปฐม และได้ให้ช่างแกะพิมพ์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ แล้วเสร็จเดือนกันยายนปีเดียวกัน
จากนั้นนำมาให้ช่างหล่อทำการถอดพิมพ์และหล่อเป็นเนื้อเงินออกมาจำนวนประมาณ ๔๐ องค์ เพื่อนำมาคัดเลือกหาองค์ที่มีความสมบูรณ์ไม่มีตำหนิ ได้ประมาณ ๑๐ องค์ นำมายิงเลเซอร์ตัวหนังสือ ยันต์และอักขระต่างๆ ที่ฐานด้านหน้า ด้านหลังและใต้ฐาน แล้วจึงคัดองค์ที่งามที่สุด ๒-๓ องค์ มาเป็นแม่พิมพ์สุดท้าย ขั้นตอนนี้ในสถานการณ์ปกติจะใช้เวลาประมาณครึ่งเดือน ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ทำให้งานล่าช้าไปมาก กว่าจะตั้งเครื่องเริ่มทำงานได้ก็ราวปลายเดือนธันวาคม แต่เนื่องจากองค์พระและเส้นยันต์มีลายละเอียดมากทำให้เกิดปัญหาหล่อติดบ้างไม่ติดบ้าง
ทางวัดจึงขอให้ช่างทำให้สมบูรณ์ที่สุด ทางช่างเองก็พยายามแก้ปัญหาโดยสั่งซื้อเครื่องใหม่มาลง ก็พอแก้กันไปได้ทีละส่วน งานก็พอเดินไปได้ ปัญหาตรงนี้แตกต่างจากการสร้างสมเด็จองค์ปฐมรุ่น ๔ ครั้งนั้นหล่ออย่างไรก็ไม่ติด (ช่างเจ้าเดียวกัน) จนต้องนำบายศรีไปกราบขออนุญาตสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปฐมที่วิหารอย่างเป็นทางการ ปรากฏว่าหล่อติดทุกองค์รวมถึงองค์ที่ทำพิมพ์สำรองไว้ก็ติดสมบูรณ์ทั้งหมด พอมารุ่นนี้หล่อได้ แต่จำนวนไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ ค่อยๆขยับไปได้ทีละนิด จนช่างต้องขอให้ทางวัดลองหาโรงงานอื่นเผื่อไว้ เพราะมีแนวโน้มว่าจะไม่ได้จำนวนตามที่ต้องการ
ทางวัดได้ติดต่อช่างที่มีชื่อเสียงอีก ๒ แห่ง หนึ่งในนั้นเป็นช่างที่วงการสร้างพระให้การยอมรับว่าเป็นมือ ๑ ในการสร้างพระกริ่งระดับประเทศ ได้ทำการทดลองหล่อพระตัวอย่างมาดูทั้ง ๒ แห่ง ปรากฏว่าสู้ช่างที่หล่อเจ้าแรกไม่ได้ จึงเป็นอันล้มเลิกไป เดินหน้าหล่อเจ้าเดียวให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่จะว่าเจ้าเดียวก็ไม่เชิง เพราะระหว่างที่หาช่างเสริม ทางวัดได้ลองให้โรงงานเอเชียไฟน์อาร์ทที่หล่อพระพุทธไสยาสน์ให้กับทางวัด ลองหล่อตัวอย่างดู ปรากฏว่าช่างที่ทำแต่งานใหญ่ๆ มาตลอด สามารถหล่อพระองค์เล็กๆ ได้ละเอียดงดงามไม่แพ้ใคร และดูเหมือนจะหล่อได้ดีกว่าช่างเจ้าแรกด้วยซ้ำ แต่ติดปัญหาตรงที่ว่าไม่สามารถเร่งปริมาณได้ จึงทำให้มีเนื้อสัมฤทธิ์นอกมาแค่เพียงส่วนหนึ่ง สำหรับ โรงงานเอเชียไฟน์อาร์ท นั้นนอกจากจะหล่อเนื้อสัมฤทธิ์นอกแล้ว ทางวัดยังได้มอบหมายให้สร้างด้วยเนื้อโลหะพิเศษขึ้นมาจำนวนหนึ่ง
โดย คุณพงศ์พิชญ์ วงศ์โสภณศิริ เป็นผู้รวบรวมโลหะต่างๆมูลค่ากว่า ๕ แสนบาท ถวายวัดสำหรับใช้ในการจัดสร้าง ได้พระจำนวนประมาณ ๑,๐๐๐ องค์ และเหลือเนื้อโลหะที่เป็นชนวนอีกส่วนหนึ่ง
โลหะต่างๆ นั้น คุณพงศ์พิชญ์ ได้เก็บรวบรวมมาเป็นระยะเวลาหลายปี โดยแรกเริ่มตั้งใจสร้างเป็นเนื้อนวโลหะซึ่งประกอบด้วยโลหะ ๙ ชนิดประกอบกัน แต่ภายหลังมีโอกาสได้เก็บโบราณวัตถุต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนพระพุทธรูปสมัยโบราณ เงินสัมฤทธิ์โบราณ และโบราณวัตถุที่มีคุณค่าอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อหล่อเป็นองค์พระออกมาแล้ว ทำให้มีสีสันที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ แต่มีปัญหาอย่างหนึ่งคือ พระส่วนใหญ่จะหล่อได้ไม่ค่อยสมบูรณ์นัก ถึงแม้จะหล่อแบบสุญญากาศแล้วก็ตาม เนื่องจากส่วนผสมของโลหะมีความหนืดกว่าปกติทั่วไปมาก และเนื้อพิเศษนี้อุดใต้ฐานองค์พระด้วยมวลสารที่เจ้าภาพถวายมาโดยเฉพาะ อาทิเช่น ผงชิ้นส่วนพระเบญจภาคี ครบ ๕ วัด เป็นต้น จำนวน ๒ กระปุก โดยใช้มวลสารของหลวงพ่อพระราชพรหมยานเป็นมวลสารหลัก
ในส่วนเงินสัมฤทธิ์โบราณที่นำมาหลอมสร้างพระในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเงินโบราณของประเทศจีนที่มีอายุนับพันปี หลากหลายราชวงศ์ แต่ที่มากเป็นพิเศษได้แก่ ราชวงศ์โจว (ยุคหลัง) อายุประมาณ ๑ พันปี เนื่องจากมีประวัติความเป็นมาแตกต่างจากเงินของราชวงศ์อื่นๆ กล่าวคือ ช่วงระยะเวลาที่ราชวงศ์นี้ขึ้นปกครองประเทศจีนนั้น มีศึกสงครามต่อเนื่อง ฮ่องเต้จึงคิดวิธีหาเงินใช้จ่ายในการรบ โดยนำพระพุทธรูปตามวัดต่างๆมาหลอมเป็นเงิน ท่ามกลางการทัดทานของเหล่าขุนนาง แต่ฮ่องเต้ก็สามารถยกเหตุผลมาอธิบายจนทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้ และคาดว่าน่าจะเป็นเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ราชวงศ์โจวอยู่ได้เพียง ๙ ปี ก็ล่มสลาย
เมื่อราชวงศ์ใหม่ขึ้นมาปกครองประเทศมีการผลิตเงินรุ่นใหม่มาใช้แทน ประชาชนจึงนำเหรียญเงินของราชวงศ์โจวมาใช้แขวนติดตัวเพื่อเป็นเครื่องรางป้องกันภัย และที่นิยมกันมากคือนำมาแช่น้ำเพื่อทำน้ำมนต์สำหรับดื่มรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จนเป็นที่ร่ำลือกันมากถึงความศักดิ์สิทธิ์ในยุคนั้น และนับได้ว่าเป็นเหรียญที่ใช้ทำน้ำมนต์ที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการบันทึกไว้ ปัจจุบันเหรียญจำนวนมากได้แปรสภาพเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา หลงเหลืออยู่ในรูปโบราณวัตถุจำนวนหนึ่ง ซึ่งคุณพงศ์พิชญ์ได้รวบรวมกลับมาถวายคืนเป็นของสงฆ์เพื่อใช้สร้างพระในครั้งนี้ด้วย
หลังพิธีพุทธาภิเษก ( ๒๘ มค. ๕๕ ) แล้ว ทางวัดได้เร่งช่างให้สร้างพระต่อทันที แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมปริมาณให้เป็นไปตามต้องการได้ จึงหาช่างเจ้าอื่นให้ช่วยกันทำไปพร้อมๆกัน ซึ่งคราวนี้พอมีเวลาในการคัดเลือกช่างให้เหมาะสมกับงาน โดยมีข้อกำหนดว่าต้องได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ ซึ่ง โรงงานเอเชียไฟน์อาร์ท นั้นคุณภาพเป็นที่ยอมรับ แต่ทางวัดต้องเร่งงานสร้างพระพุทธบาทลายลักษณ์ ๑๐๘ และพระพุทธไสยาสน์เนื้อสัมฤทธิ์ ความยาว ๘ ศอก ให้แล้วเสร็จ จึงได้ตัดงานเล็กออกไปเพื่อให้งานใหญ่เดินได้เต็มที่ หลังจากเสาะหากันพักใหญ่
ในที่สุดจึงมอบหมายให้ บริษัทแพรนด้าจิวเวลรี่ จำกัด(มหาชน) ดำเนินการสร้างควบคู่กันไป (แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นอีกหลายเท่าก็ตาม) โดยใช้ต้นแบบองค์เดียวกัน ซึ่งทางโรงงานได้ขออนุญาตแก้ไขพิมพ์ทรงบางส่วน โดยถอดพิมพ์หล่อเป็นเนื้อทองคำ แล้วให้ช่างแต่งรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนพระพักตร์ พระเศียร ซุ้มและฐาน เพื่อให้ได้พุทธลักษณะใกล้เคียงกับองค์ใหญ่ที่หลวงพ่อพระราชพรหมยานได้เททองสร้างไว้ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๕ ให้มากที่สุด
ในพิธีพุทธาภิเษกครั้งหน้า ( ๒๓ มิย. ๕๕ ) โรงงานทั้ง ๒ แห่งก็รับปากว่าจะพยายามให้ได้ปริมาณมากที่สุด แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ไม่ค่อยไว้วางใจ เนื่องจากการสร้างสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปฐมนั้น ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักจะไม่เป็นไปตามจำนวนที่ต้องการนัก เช่น สมเด็จองค์ปฐมรุ่น ๑ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๕ สั่งสร้าง ๓๐,๐๐๐ องค์ ได้จำนวน ๓,๐๐๐ องค์ รุ่น ๒ สั่งสร้าง ๓๐,๐๐๐ องค์ ได้จำนวน ๑๐,๐๐๐ องค์ เป็นต้น สำหรับรุ่นฉลองสมณศักดิ์พระภาวนากิจวิมลนั้นสั่งสร้างจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ องค์ เพิ่งได้มาประมาณ ๑๐,๐๐๐ กว่าองค์ แม้ใจลึกๆจะเชื่อว่าจำนวนที่แน่นอนคงถูกกำหนดไว้แล้ว แต่คณะทำงานก็จะใช้ความพยายามในการตามงานช่างหล่อให้มากที่สุดที่จะพึงทำได้ก่อน เมื่อถึงที่สุดแล้วได้เท่าไรก็คงต้องยอมรับ