พระบูชา5นิ้วรุ่นแรก หลวงพ่อพริ้ง วัดบางประกอก ปี14
หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก หรือ “ท่านพระครูวิสุทธิศิลาจารย์” จัดเป็นอีกหนึ่งคณาจารย์ยุคเก่าที่มีลูกศิษย์ทุกระดับชนชั้นมากมายรวมทั้ง “พระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักด์” ก็ได้เสด็จไปฝากตัวเป็นศิษย์ของท่าน หลวงพ่อพริ้งเป็นผู้มอบกระดูกหน้าผากนางนากให้เสด็จในกรมฯ ซึ่งมีความเฮี้ยนมากจนเป็นที่กล่าวถึงของพระโอรสและธิดา ซึ่งเสด็จเตี่ยบอกว่า ไม่ต้องกลัว และความเฮี้ยนของนางนากก็ปรากฏถึง ๒ ครั้ง ในตำหนักนางเลิ้ง
ในเรื่องกระดูกหน้าผากของนางนากนี้ได้ปรากฏในงานเขียนประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) รวบรวมโดย ม.ล.พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา พ.ศ.2473 บรรยาย ไว้ว่าหลังจากที่นางนาคออกอาละวาดหนัก สมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านรู้เรื่องจึงลงไปค้างที่วัดมหาบุศย์และเรียกนางนาค ขึ้นมาคุยกัน ผลสุดท้ายท่านเจาะเอากระดูกหน้าผากของนางมาลงยันต์และทำเป็นปั้นเหน่งคาดเอว ผีนางนาคก็ไม่ออกมาอาละวาดอีกเลย
และในเรื่องนี้ สมบัติ พลายน้อย ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ค้นคว้าและเขียนเรื่องของแม่นาคสรุปเอาไว้ว่า กระดูกหน้าผากแม่นาคนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้ประทานให้กับ สมเด็จหม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัต) และประทานให้ หลวงพ่อพริ้ง (พระครูวิสุทธิ์ศีลาจารย์) อีกต่อ จนมาถึงกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ไม่นานนักแม่นาคก็มากราบลา จากนั้นก็ไม่มีใครพบกระดูกหน้าผากของแม่นาคอีก จึงนับได้ว่าในยุคนั้นท่านมีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้คณาจารย์ใด ๆ ในยุคเดียวกันเลย เนื่องจากหากหน่วยงานราชการในยุคนั้นมีพิธีพุทธาภิเษกที่สำคัญ ๆ แล้ว “หลวงพ่อพริ้ง” ก็จะต้องเป็นคณาจารย์อีกรูปหนึ่งที่ได้รับการนิมนต์ให้ไปร่วมพิธีทุกครั้ง ชื่อเสียงของท่านจึงขจรระบือไกล
โดยประวัติหลวงพ่อพริ้ง มีนามเดิมว่า “พริ้ง เอี่ยมเทศ” เกิดเมื่อ พ.ศ. 2412 เป็นชาวบางปะกอก อำเภอราษฎร์บูรณะ เริ่มเรียนหนังสือด้วยการบวชเป็นสามเณรที่ “วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ)” กระทั่งอายุครบ 20 จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่ “วัดทองนพคุณ” อ.คลองสาน แล้วจึงไปจำพรรษาที่ วัดบางปะกอก จวบกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสครองวัดบางปะกอกจนกระทั่งมรณภาพ
หลังจากเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์แล้ว “หลวงพ่อพริ้ง” ก็ได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งภาษาไทยและบาลีจนแตกฉาน ประกอบกับเป็นผู้ที่มีความสนใจทางด้าน “วิปัสสนากรรมฐาน” จึงทำการฝึกฝนทางด้านนี้อย่างจริงจังรวมทั้งเรียนด้านวิทยาคมเพิ่มเติมอีก กับคณาจารย์ต่าง ๆ หลายสำนัก ทำให้ท่านมีชื่อ เสียงเด่นดังทั้งทางด้าน คงกระพันชาตรีและเมตตามหานิยม แถมด้วย วิชาแพทย์แผนโบราณ อีกด้วยเพื่อนำมาสงเคราะห์ต่อชาวบ้านในสมัยนั้น โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่ได้รับนิมนต์ให้ไปร่วมประกอบพิธีหล่อและพุทธาภิเษก “พระกริ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ วัดสุทัศน์ )” ซึ่งมีพระคณาจารย์ชื่อดังหลายสิบรูปมาร่วมพิธีครั้งนี้ปรากฏว่า “แผ่นยันต์ ที่หลวงพ่อพริ้งทำการจารอักขระ” และได้นำไปใส่ในเบ้าหลอมรวมกับของคณาจารย์รูปอื่น ๆ ไม่ยอม “หลอมละลายเลย” เกิดเป็นปรากฏการณ์อันอัศจรรย์ให้เล่าขานมาถึงทุกวันนี้ โดยต้องนิมนต์ท่านมาทำการท่องมนต์กำกับแผ่นจารจึงละลายในเวลาต่อมา
หรือในสมัยที่ก่อเกิด “สงครามอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ 2” (ระหว่าง พ.ศ. 2480–85) วัดบางปะกอกก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่ประชาชนทั่วไปได้มาขอพึ่งพาเป็นที่หลบภัย ทั้ง ๆ ที่วัดอยู่ไม่ไกลจากอู่ต่อเรือของทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาสร้างฐานทัพในประเทศ ไทยเท่าใดนัก โดยช่วงนั้นฝ่ายพันธมิตรได้นำเครื่องบินทิ้งระเบิดเพื่อทำลายฐานที่มั่นของ ทหารญี่ปุ่นมากมายหลายสิบลูก แต่ไม่มีระเบิดแม้แต่ลูกเดียวที่จะหลงหลุดลอยมาถึงวัดบางปะกอกได้เลย ทั้งนี้เป็นเพราะ “หลวงพ่อพริ้ง” ได้ทำพิธีขจัดปัดเป่าจึงทำให้บริเวณวัดบางปะกอกและใกล้เคียงรอดพ้นจากลูกหลง โดยสิ้นเชิง ทำให้ประชาชนชาวบางปะกอกสมัยนั้นต่างไม่มีใครลืมเหตุการณ์ในยุคนั้นได้เลย
ด้วยเหตุนี้ชื่อเสียงท่านจึงโด่งดังมากเป็นผลให้ประชาชนทั่วสารทิศทั้งใกล้ ไกล ต่างมุ่งไปขอวัตถุมงคลจากท่านรวมทั้งไปให้ท่านช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งท่านก็ไม่เคยปฏิเสธผู้ใดไม่ว่าจะเป็นเจ้าใหญ่นายโตหรือประชาชนธรรมดาสามัญ หากไปขอให้ท่านช่วยสงเคราะห์แล้วเป็นได้รับเมตตาช่วยเหลือเสมอเหมือนกันหมด