เหรียญสามัคคีมีสุข – กูผู้ชนะ รุ่น1 (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง

เหรียญสามัคคีมีสุข – กูผู้ชนะ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง สร้างเมื่อปี2521 จำนวนการสร้างประมาณ 1ล้านเหรียญ จะมีอยู่ด้วยกัน 2แบบ คือ

1. เหรียญโลหะรมดำ ปลุกเสกเมื่อวันวิสาขบูชา ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๒๑ ถือเป็นรุ่นแรก
2. เหรียญโลหะชุบทอง ปลุกเสกเดือนเมษายน ๒๕๒๘ ถือเป็นรุ่นที่2

เหรียญทั้งสองชนิด ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อครึ่งองค์ ส่วนด้านหลังเป็นรูปพระเจ้าตากสินมหาราช และมีข้อความด้านบนว่า กูผู้ชนะ

เหรียญนี้ เด่นด้านแคล้วคลาดคงกระพันชาตรี คืออยู่ยงคงกระพันมาก ชนะข้าศึกศัตรูหมู่อมิตรที่คิดร้าย มีประสบการณ์มาก จากทหาร-ตำรวจตระเวณชายแดน

**************************************************

หลวงพ่อได้ชี้แจงเรื่องการสร้างเหรียญนี้ไว้ดังนี้

“อาตมาทำเหรียญพิเศษ ให้นามว่า “กูผู้ชนะ” แจกแด่ท่านที่ร่วมกุศลสาธารณประโยชน์ สงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดาร โดยเอาเงินที่ได้จากการแจกเหรียญนี้ซื้ออุปกรณ์ในการแจกของ จำนวนที่ทำมีจำนวนจำกัดไม่มากนัก เริ่มทำการปลุกเสก วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๒๑ ตรงกับวันวิสาขบูชา จะเริ่มทำการแจกวันเข้าพรรษา คือ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๒๑ เป็นต้นไป
อัตราบำเพ็ญกุศล เดิมมิได้กำหนดไว้ อยากจะให้เป็นไปตามศรัทธาของท่านผู้รับ และตั้งใจทำบุญ มีหลายท่านแจ้งมาว่า คนจนที่มีเงินน้อย บางท่านอยากจะได้ไว้มาก เพื่อให้เพียงพอแก่คนในครอบครัว เห็นคนอื่นทำบุญมาก และได้รับเหรียญเดียว ตนเองยากจน ครั้นจะบริจาคมากก็ไม่มีพอ ขอให้กำหนดอัตราขั้นต่ำไว้ เพื่อความสบายใจของท่านผู้รับ อาตมาขอกำหนดอัตราสำหรับบริจาคสงเคราะห์ผู้ยากจนไว้ดังนี้ ท่านผู้รับจะรับเหรียญนี้ได้ โดยที่ท่านบริจาคทรัพย์ร่วมสาธารณกุศลตั้งแต่ ๑๐ บาท ขึ้นไป ถ้าไม่เกรงใจคนที่บอกว่ายากจน จะไม่กำหนดราคาเลย

สำหรับเหรียญ “กูผู้ชนะ” นี้ ไม่มีวางแจกหรือขายในที่ใดทั้งหมด ทุกท่านจะได้รับจากอาตมาเองแห่งเดียว

พระมหาวีระ ถาวโร
๒๑ พฤษภาคม ๒๕๒๑
วัดจันทาราม (ท่าซุง) อ.เมือง จ.อุทัยธานี

(คัดลอกมาจากหนังสือ “สมบัติพ่อให้” ของวัดท่าซุง (๑๕ มีนาคม ๒๕๓๕)

**********************************************************

ประวัติการสร้างเหรียญ “กูผู้ชนะ” ของ หลวงพ่อฤาษีลิงดำหลวงพ่อท่านเล่าดังนี้..

…อย่าง พระเจ้าตากสิน นั่นต้องเรียกว่า น้ำใจเข้มแข็ง ขนาดข้าศึกล้อมอยู่แบบนั้น ท่านกับกำลังพล 500 ตีฝ่าข้าศึก ไม่ใช่ของง่ายเลยนะ ใช่ไหม ? คือไม่ใช่ของง่ายเลย ก็ยังมีลูกหาบอีก ไอ้ลูกหาบนี่ ดีไม่ดี ลูกหาบตาย นี่ไอ้รุ่นหน้าตีไป รุ่นหลังต้องประคองลูกหาบอีก สามารถเอาลูกหาบเสบียง เอาไปบ้างตามควรนิดหน่อย นี่เป็นนักรบที่มีฝีมือดี ถ้าใจไม่เข้มแข็งจริงๆ จะกล้าตีข้าศึกไปได้อย่างไร กำลังนิดเดียวใช่ไหม แล้วไอ้ภายในประเทศก็ไม่ดี เสียครั้งแรก ตั้งกรุงศรีอยุธยามา 190 ปีเศษ แล้วมาครั้งที่ 2 นี่ 190 ปีเศษ

กรุงเทพฯ เวลานี้ยุ่งๆ นะ 190 ปีเศษเหมือนกัน ชะตาประเทศไทย ถ้าถึง พ.ศ. 2525 นะ ครบ 200 ปี พ้นเขต นี่เวลานี้มันเข้าเขตแล้วนะแต่ว่าช่วงจังหวะนี้มันเข้าจังหวะเกณฑ์ เขาเรียกว่า เข้าเกณฑ์ดี จังหวะนี้ ตั้งแต่นี้ต่อไป เข้าเกณฑ์ดี ท่านถึงบอกให้ทำ “เหรียญกูผู้ชนะ” พระเจ้าตากสินให้ทำ ทีแรกจะทำก็ล้อเล่นๆ หลวงปู่แหวนท่านทำ เหรียญเราสู้ ปีที่แล้วไปกองบัญชาการทหารสูงสุด บอก เฮ้ย! ไอ้แค่ เราสู้ ยังแค่กัน กูสู้ว่ะ! ไอ้พวกนั้น ฮาตึง! บอก ดีครับๆ เราก็คิด พูดส่งไปตั้งปีที่แล้ว ไม่ได้คิดจะทำ มาปีนี้ท่านสั่งทำ บอก”เราสู้—ก็แค่นั้นแหละ กูสู้–ก็แค่นั้น ยังสู้ ต้อง “กูผู้ชนะ” ถามท่านว่าทำไม ท่านบอก เวลานี้มันถึงเกณฑ์ชนะแล้ว ถาม เอารูปใคร บอก เอารูปผม บอก เอ้า ไม่ยกย่องตนเองเกินไปหรือ รัชกาลที่ 1 ก็เก่งใช่ไหม กรมพระราชวังบวร ท่านก็เก่ง ท่านบอกว่า ในฐานะที่ผมเป็นผู้นำ ก็ตามไปดูประวัติสิ ประวัติที่ ตากสินกู้ชาติ เคยแพ้จุดไหนบ้าง แน่ะ! เอาถึงอย่างนั้นเสียด้วย เลยต้องเอาตามท่าน เอา “กูผู้ชนะ” ก็เลยทำขึ้น ท่านสั่งทำ เวลาทำ ท่านก็มาทำด้วย ท่านทำด้วยเสร็จ

(คัดจาก หนังสือรวมคำสอนธรรมปฏิบัติของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน เล่ม 14 หน้า 336เรื่อง สนทนาหลังกรรมฐาน 25 วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน 2521)